นักวิชาการห่วง ปชช.รับผลฝุ่นพิษ แนะวิธีจัดบ้าน-สภาพแวดล้อม ชี้ตั้งต้นไม้ในห้องนอนเสี่ยง!

นักวิชาการห่วง ปชช.รับผลฝุ่นพิษ แนะวิธีจัดบ้าน-สภาพแวดล้อม ชี้ตั้งต้นไม้ในห้องนอนเสี่ยง!

​วันนี้ (18 มกราคม 2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังแถลงข่าวรู้ทันป้องกันฝุ่น PM2.5  “การจัดบ้านให้ปลอดฝุ่นได้อย่างไร” ที่ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านผลกระทบต่อสุขภาพ (ศกพ.ส.) ว่า ในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงพบหลายพื้นที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคเหนือ

“จากข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 เมื่อวันที่ 10 – 16 มกราคม 2564 พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย จำนวน 31 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ รองลงมาคือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60-69 ปี และมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ดังนั้น ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ดูแลป้องกันสุขภาพตนเอง โดยเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้ง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นที่จัดเตรียมไว้ และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สธ.ได้ยกระดับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่เสี่ยง โดยให้ทุกพื้นที่ดำเนินงานเฝ้าระวัง แจ้งเตือนสถานการณ์และดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ให้คำแนะนำการป้องกันตัวและดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ให้โรงพยาบาลเปิดคลินิกมลพิษเพื่อให้คำปรึกษาและรักษา สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุข และสนับสนุนให้โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ บ้านเรือนประชาชน จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น รวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานในพื้นที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน และจัดการแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละอองให้น้อยที่สุด หากประชาชนมีปัญหาด้านสุขภาพ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศกพ.ส. หรือ เฟซบุ๊ก กรมอนามัย และ คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้บ้านทุกแห่ง

Advertisement

ด้าน ผศ.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่าสถานการณ์ปัญหาการสะสมตัวของ PM2.5 ในบรรยากาศ ภายในเมืองขนาดใหญ่มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากสภาพอากาศที่ปิดในช่วงฤดูหนาว และยังมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอาคาร การจัดการคุณภาพอากาศในอาคารอย่างเหมาะสม จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันตนเองจากการสัมผัส PM2.5 ที่เข้ามาจากภายนอกอาคาร

ผศ.ประพัทธ์ กล่าวว่า มีเทคนิคการจัดการคุณภาพอากาศภายในบ้าน สำนักงาน 3 ส่วนหลัก คือ 1.การควบคุมแหล่งกำเนิด เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ PM2.5 ภายในบ้าน สำนักงาน การควบคุมแหล่งกำเนิดของ PM2.5 ภายในบ้านจึงเป็นส่วนที่สำคัญอันดับแรกโดยปิดประตูหน้าต่าง และเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นในบ้าน 2.การฟอกอากาศ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการลด PM2.5 ภายในบ้าน/สำนักงาน การใช้อุปกรณ์ฟอกอากาศ จึงเป็นการแก้ปัญหาเชิงเทคนิคที่สามารถทำได้ และ 3.การระบายอากาศร่วมกับการฟอกอากาศ โดยอาศัยการจ่ายอากาศที่ผ่านการกรองเข้ามาให้ห้อง เพื่อให้ภายในห้องมีแรงดันสูงกว่าบรรยากาศภายนอก (Positive Pressure) และผลักดันฝุ่นภายในห้องออกไปภายนอกอย่างต่อเนื่องจนปริมาณฝุ่นในห้องต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับพื้นที่ของคนที่อยู่อาศัยจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

“อีกหนึ่งตัวช่วยในการดักจับสารพิษในอากาศ และสามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ดี คือ การปลูกต้นไม้ เพราะส่วนต่างๆ ของต้นไม้ โดยเฉพาะใบ สามารถช่วยดักฝุ่นได้ดี ต้นไม้หลากหลายชนิดสามารถดักจับฝุ่นได้จากลักษณะของใบ โดยต้นไม้ที่มีใบใหญ่ หนา โดยเฉพาะใบที่มีขนหรือมีพื้นผิวขรุขระ จะมีแนวโน้มในการดักจับฝุ่นได้ดี เนื่องจากมีพื้นที่ในการดักจับได้มาก และไม่ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกมาอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม การดักจับฝุ่นบนใบนั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากฝุ่นบนในจะไปปิดกั้นการรับสารอาหารของพื้น การลดฝุ่นของต้นไม้ต่อต้นอาจจะไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับเครื่องฟอกอากาศ เนื่องจากขึ้นกับพื้นผิวของใบ แต่การปลูกต้นไม้ ร่วมกับการวางผังบริเวณที่ดี เช่น การจัดสวนเพื่อเป็นพื้นที่กันชนระหว่างแหล่งกำเนิด จะช่วยส่งผลให้ลดการเดินทางของฝุ่นจากแหล่งกำเนิดดังกล่าว เข้ามาภายในบ้านและสำนักงาน ได้” ผศ.ประพัทธ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ต้นไม้หลากหลายประเภท ยังสามารถดูสารอินทรีย์ระเหยเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของต้นไม้เอง และยังสามารถเพิ่มปริมาณออกซิเจนแก่พื้นที่ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การตั้งต้นไม้ไว้ในห้องนอนควรระมัดระวัง เนื่องจากต้นไม้ส่วนใหญ่มีการใช้ออกซิเจนในตอนกลางคืน และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image