“หมอยง” ชี้การตายหลังได้รับวัคซีน 23 รายของนอร์เวย์ มาจากหลายสาเหตุ

“หมอยง” ชี้การตายหลังได้รับวัคซีน 23 รายของนอร์เวย์ มาจากหลายสาเหตุ

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.63 นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยถึง วัคซีน covid 19 อาการไม่พึงประสงค์ อาการแทรกซ้อน

การตาย ในผู้สูงอายุ หลังให้วัคซีน ในประเทศนอร์เวย์ จำนวน 23 ราย เป็นข่าวใหญ่ ทำให้เกิดวิตกกังวล ต่อกระบวนการให้วัคซีน อาการไม่พึงประสงค์ หลังการให้วัคซีนของ ไฟเซอร์ ในประเทศนอร์เวย์ ที่มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจำนวนมากต้องทำความเข้าใจก่อนว่า อาการไม่พึงประสงค์ หลังให้วัคซีนไม่จำเป็นต้องเกิดจากวัคซีน หรือแพ้วัคซีน กรรมการตรวจสอบว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนที่ให้หรือไม่ จะตรวจสอบอย่างละเอียด
การศึกษาวัคซีนใหม่ ถึงแม้ว่าจะผ่านระยะที่ 3 แล้ว จะต้องตามอาการไม่พึงประสงค์หลังนำไปใช้ ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 ปี อย่างเช่นในนอร์เวย์
นพ.ยงกล่าวว่า ตนได้ศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนมากว่า 30 ปี หลังฉีดวัคซีน ผู้ที่รับวัคซีนเดินกลับบ้านไปตกท่อ จะต้องรายงานว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์ และหาสาเหตุของการตกท่อ ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ให้กรรมการกลางที่ดูแลด้านความปลอดภัยมาช่วยพิจารณาด้วย เพราะวัคซีนที่ฉีด อาจทำให้เวียนศีรษะแล้วเดินตกท่อก็ได้ เมื่อฉีดวัคซีนแล้วมีการตาย ถือเป็นเรื่องใหญ่มากเคยมีอาสาสมัครฉีดวัคซีนแล้วอีก 2 วันเสียชีวิต รายงานทันที ที่ได้รับทราบการเสียชีวิตในรายนี้ถูกยิงตาย จะต้องหาสาเหตุว่าวัคซีนที่ฉีด อาจจะทำให้เกิดความก้าวร้าว ที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการถูกยิงก็ได้
นพ.ยงกล่าวว่า และเช่นเดียวกัน มีผู้ป่วยหลังฉีดวัคซีนที่ตนเคยดูแลอยู่ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ก็ต้องดูในรายละเอียดเพราะวัคซีนอาจจะทำให้อาการง่วงหนาว หาวนอนแล้วเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุก็ได้
การเสียชีวิตของผู้สูงอายุในนอร์เวย์ ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (วัคซีนนี้ไม่ได้อยู่ในแผนการให้วัคซีนของประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้) ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ อายุมากกว่า 80 ปี อยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุส่วนมากจะมีโรคประจำตัว
นพ.ยงกล่าวว่า ในภาวะปกติในสถานดูแลผู้สูงอายุ ก็มีการเสียชีวิตอยู่ประจำอยู่แล้ว แน่นอนเมื่อเกิดขึ้นหลังการให้วัคซีน ก็ต้องพิสูจน์กันว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากวัคซีนหรือไม่ หรือจากโรคชรา โรคประจำตัว จนกว่าจะมีการพิสูจน์การเสียชีวิตอย่างละเอียดทุกราย จึงค่อยว่ากันว่าเป็นสาเหตุจากวัคซีนหรือไม่ การเสียชีวิตดังกล่าว ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไหนหยุดการฉีดวัคซีน ไฟเซอร์ขณะนี้ทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 40 ล้าน โดส และเป็นวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์มากที่สุด การให้วัคซีนวันละหลายล้านคนคงจะยังได้ยินข่าวแบบนี้อีกแน่นอน อาการไม่พึงประสงค์ ต้องรอสรุปจริงๆ จะต้องรอการสอบสวนอย่างละเอียดต่อไป
ของใหม่เมื่อนำมาใช้ ก็ต้องมีการระวังอาการข้างเคียง อาการไม่พึงประสงค์อย่างละเอียด และรอบคอบ ดูอาการไม่พึงประสงค์อาจเกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งโอกาสที่จะเกิดเป็นหนึ่งในล้าน
อย่างไรก็ตาม ต่อมา นพ.ยง ได้เปิดเผยอีกว่า การวัดประสิทธิภาพของวัคซีน covid-19  ว่าปกติการวัดประสิทธิภาพ ต้องใช้เวลานานเป็นปี แต่เนื่องจากเร่งรีบจึง ตั้งจุดมุ่งหมาย มีผู้ป่วยตามจำนวนที่ต้องการ แล้วนำมาเปรียบเทียบ ระหว่างกลุ่มที่ให้วัคซีน กับกลุ่มที่ให้วัคซีนหลอก หรือให้วัคซีนชนิดอื่นเช่น วัคซีน Sinovac ที่ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงสูง ครั้งแรก จีนประกาศประสิทธิผล 78% นับจากผู้ป่วยมีอาการ ที่ ต้องการการรักษาขึ้นไป grade 3 (WHO) และเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ในผู้ป่วยที่มีอาการตั้งแต่ปานกลางที่ต้องนอนโรงพยาบาล grade 4 (WHO) แต่การประเมินประสิทธิผลของบราซิลได้ 50.4 เปอร์เซ็นต์ ใช้รวมผู้ป่วยทั้งหมดที่มีอาการน้อยขึ้นไปตั้งแต่ไม่มีอาการ (asymptomatic) มีอาการแต่ไม่มาก และไม่ต้องการการรักษา จนถึงอาการมาก นับรวมทั้งหมด จากบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 9,200 คน มีผู้ป่วยทั้งหมด 225 คน เป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 85 คน เข้าใจว่าเกือบทั้งหมด มีอาการน้อย ส่วนกลุ่มยาหลอก 167 คน มีทั้งที่ไม่นอนโรงพยาบาลและนอนโรงพยาบาล ตามการแบ่งขององค์การอนามัยโลกแล้วจะแบ่งระดับความรุนแรงเป็น 10 ระดับตั้งแต่ไม่มีการติดเชื้อเป็น 0 และถึงตาย เป็น 10 ขึ้นอยู่กับการตัดระดับของประสิทธิภาพวัคซีน กับความรุนแรงอยู่ในระดับไหน
นพ.ยงกล่าวว่า เช่นเดียวกันการศึกษาในประเทศตุรกีในประชากรทั่วไปจำนวน 7,371 แต่การศึกษายังไม่สิ้นสุด ประเมินผลเบื้องต้นจากประชากร 1,322 คน มีผู้ป่วย 29 คนเป็นกลุ่มวัคซีน 3 คนกลุ่มยาหลอก 26 คน จึงคำนวณประสิทธิภาพได้ค่อนข้างสูงถึง 91 เปอร์เซ็นต์ คงจะต้องรอจากการประเมินผลต่อไปประชากรที่ฉีดแล้ว อีกเป็นจำนวนมาก ทำนองเดียวกันของอินโดนีเซียที่ฉีดวัคซีนในประชากรทั่วไป ก็เป็นการรายงานเบื้องต้น จำนวน 1,600 คน มีผู้ป่วยเพียง 25 คน ทั้งอาการมากและอาการน้อย และเมื่อคำนวณการเปรียบเทียบ จึงได้ 65 เปอร์เซ็นต์ คงต้องรอไปอีกสักระยะหนึ่งรอให้การศึกษาสมบูรณ์
นพ.ยงกล่าวว่า ดังนั้นการศึกษาทั้งหมดที่เราเห็นตัวเลขกัน ยังเป็นการศึกษาเบื้องต้น ในเกือบทุกบริษัท คงต้องรอต่อไป 6 เดือนหรือ 1 ปีข้างหน้าจึงจะทราบรายละเอียดทั้งหมดเนื่องจากโรคดังกล่าวระบาดและแพร่กระจายอย่างหนัก จึงรอให้การศึกษาเสร็จสมบูรณ์ไม่ได้ ก็ใช้รายงานการศึกษาเบื้องต้น มาขอขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน และเปรียบเทียบน้ำหนักของผลได้จากวัคซีน และการเกิดโรคที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยจะเน้นวัคซีนสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคและลดอัตราการตาย ยังไม่ได้ประเมินอัตราการติดเชื้อ ป้องกันได้แค่ไหนฟังดูก็คงจะงง ในรายละเอียดทั้งหมด
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image