คนไข้เมิน รพ.แออัด แห่เข้าโครงการรับยาใกล้บ้าน อนุทิน เผยยอดใช้บริการ 80%

แฟ้มภาพ
คนไข้เมิน รพ.แออัด แห่เข้าโครงการรับยาใกล้บ้าน อนุทิน เผยยอดใช้บริการ 80%

วันที่ 19 มกราคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการลดความแออัดของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภท 1 หรือ โครงการผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ณ วันที่ 1 มกราคม 2564 มีจำนวนผู้ป่วยสะสมที่ไปรับบริการที่ร้านยา 29,299 คน คิดเป็นร้อยละ 80.38 ของเป้าหมายในปี 2564 ซึ่ง สปสช.ตั้งไว้ที่ 36,450 คน จำนวนการไปรับยา 54,730 ครั้ง มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ 141 แห่ง และร้านยาในเครือข่าย 1,081 แห่ง โดยรวมแล้วถือว่ามีการพัฒนาขึ้นมาก เช่น จำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นจาก 11,235 ราย ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เป็น 29,299 รายในปัจจุบัน หรือจำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจาก 130 แห่ง ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เป็น 141 แห่งในปัจจุบัน

“โครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนรับยาตามร้านยาที่ร่วมโครงการโดยความสมัครใจ เป็นทางเลือกในการรับยาหลังพบแพทย์โดยไม่ต้องรอคิวรับยาที่โรงพยาบาล ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นร้านยาแผนปัจจุบัน ข.ย.1 ที่มีเภสัชกรประจำร้าน และจะมีป้ายสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ที่หน้าร้าน และร้านยาที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ได้มีแต่ร้านในศูนย์สรรพสินค้าขนาดใหญ่ แต่ร้านยาที่มีคุณภาพทั่วประเทศมีเภสัชกรประจำก็เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในส่วนของประเภทโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ มีโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป มีอัตราการเข้าร่วมโครงการมากที่สุด โดยโรงพยาบาลทั่วไปเพิ่มขึ้นจาก 49 แห่ง ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เป็น 56 แห่งในปัจจุบัน ส่วนโรงพยาบาลศูนย์ 33 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 20 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 15 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 5 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) 8 แห่ง และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 4 แห่ง

Advertisement

“ขณะที่รูปแบบการส่งยาที่โรงพยาบาลเลือกใช้มากที่สุดคือ โมเดลที่ 1 หรือการจัดยาจากโรงพยาบาลส่งไปให้ที่ร้าน แล้วให้ผู้ป่วยมารับยาที่ร้านภายใต้การแนะนำของเภสัชกรประจำร้าน มีโรงพยาบาลเลือกใช้โมเดลนี้ 104 แห่ง รองลงมาคือ การส่งยาโมเดลที่ 2 กระจายยาจากโรงพยาบาลมาสต๊อกที่ร้านยา โดยคนไข้สามารถนำใบสั่งยามารับยาที่ร้านยาได้เลย 20 แห่ง และโมเดลที่ 3 ร้านยาจัดซื้อและสำรองยาเพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย 17 แห่ง” เลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ป่วยอายุ 61-75 ปี 11,765 คน ร้อยละ 40.16 อายุ 46-60 ปี 9,326 คน ร้อยละ 31.83 อายุ 75 ปีขึ้นไป 3,825 คน ร้อยละ 13.06 และอายุ 31-45 ปี 2,517 คน ร้อยละ 8.60

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า โรคที่รับยาที่ร้านยามากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โรคเรื้อรังที่ควบคุมได้ 12,896 ราย ร้อยละ 44.01 โรคความดันโลหิตสูงและโรคเรื้อรังอื่นๆ 4,663 ราย ร้อยละ 15.91 ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน 4,085 ราย ร้อยละ 13.94 ความดันโลหิตสูงอย่างเดียว 3,183 ราย ร้อยละ 10.86 ผู้ป่วยจิตเวช 1,329 ราย ร้อยละ 4.54 และผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1,096 ราย ร้อยละ 3.74

Advertisement

“ขณะที่โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับยามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ มีผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาเพิ่มขึ้นจาก 3,209 ราย เป็น 5,590 ราย รพ.หาดใหญ่ จาก 1,203 ราย เป็น 2,780 ราย รพ.พระจอมเกล้า จาก 1,075 ราย เป็น 1,474 ราย และ รพ.นครปฐม 1,392 ราย และ รพ.ลำพูน 1,097 ราย” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image