คณะแพทย์ฯ รพ.รามา ม.มหิดล ชี้วัคซีนโควิด-19 ของ โมเดอร์นา ประสิทธิภาพสูงสุด

ภาพ รอยเตอร์

คณะแพทย์ฯ รพ.รามา ม.มหิดล ชี้วัคซีนโควิด-19 ของ โมเดอร์นา ประสิทธิภาพสูงสุด

เฟซบุ๊ก Ramathibodi Clinical Epidemiology & Biostatistics ระบุเมื่อวันที่ 21 มกราคม สรุปข้อมูลทางสถิติจากการทดลองเชิงคลินิคของวัคซีน 4 ชนิดประกอบด้วยวัคซีนของไฟเซอร์, โมเดอร์นา, ไซโนแวค และ แอสตราเวเนก้า/อ็อกซ์ฟอร์ด พบว่า วัคซีนของโมเดอร์นา บริษัทยาในสหรัฐอเมริกามีประสิทธิภาพสูงที่สุด

โดยข้อความระบุว่า

ผลลัพธ์ของวัคซีน COVID-19 ภาษาไทย สำหรับประชาชน ที่รวบรวมโดยอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ณ วันนี้ครับ

เอกสารเต็มสามารถดูและดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของภาควิชา ที่ https://www.rama.mahidol.ac.th/ceb/Covid-19Evidences ครับ ถ้ามีการปรับปรุงใหม่จะทำการปรับปรุงเว็บไซต์เป็นระยะครับ

Advertisement

ข้อสรุปจากการรวบรวม

– ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรค COVID-19 ที่มีอาการมีความแตกต่างกันในแต่ละผู้ผลิต โดยวัคซีนของ Moderna มีประสิทธิภาพสูงสุด ตามมาด้วย Pfizer ส่วนประสิทธิภาพของ Sinovac และ Astra/Oxford ไม่มีความแตกต่างกันมากนักโดยผลที่ได้คือ 93-94%, 81.8-95%, 78.2% และ 70.4% ตามลำดับ

– ถ้าสามารถให้วัคซีนแก่คนทุกๆ 1,000 คนด้วยวัคซีนของ Moderna, Pfizer, Sinovac และ Astra/Oxford จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการได้ 12-17, 8-10, 10 และ 12 คนตามลำดับ

Advertisement

– จำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรง (ที่ต้องเข้ารับการรักษาใน ICU หรือเสียชีวิต) ในการศึกษามีจำนวนน้อยมาก พบราว 0-0.039% ในกลุ่มวัคซีนและ 0-0.046% ในกลุ่มเปรียบเทียบ จากข้อมูลที่มีอยู่จึงเปรียบเทียบได้ยาก

– ข้อมูลในกลุ่มหญิงมีครรภ์ เด็ก และผู้สูงอายุยังมีไม่เพียงพอ ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนหรือต่อต้านการรับวัคซีน

– ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ และมีไข้ ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงพบเพียง 0.5% ในวัคซีน Pfizer (อาการบาดเจ็บของไหล่ที่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต หัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะและอาการชาที่ขา) และ 0.65% ในวัคซีน Astra/Oxford (รวมอาการไขสันหลังอักเสบ)

– ผลสรุปนี้มาจากข้อมูลเชิงประจักษ์ระดับดี (1B) ที่ทำในระยะสั้น (2 เดือน) ยกเว้นข้อมูลวัคซีนของ Sinovac มาจากข้อมูลการรายงานอย่างไม่เป็นทางการ (ไม่ได้ตีพิมพ์) ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image