ประกันสังคม คาดใช้ 6.2 หมื่นล้าน ช่วยผู้ประกันตนรับผลโควิดรอบ 2

ประกันสังคม คาดใช้ 6.2 หมื่นล้าน ช่วยผู้ประกันตนรับผลโควิดรอบ 2

วันที่ 22 มกราคม นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงานและนายจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า นับจากโรคดังกล่าวแพร่ระบาดเมื่อปี 2563 ได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องของการลดอัตราเงินสมทบของนายจ้าง ผู้ประกันตน ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 นายจ้างลดเหลือ ร้อยละ 4 ผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือ ร้อยละ 1 และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลือ 86 บาท และครั้งที่ 2 ช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2563 ในส่วนของนายจ้าง ร้อยละ 2 ผู้ประกันตน ร้อยละ 2 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดลงเหลือ 96 บาท เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เหตุสุดวิสัย ร้อยละ 62 และเลิกจ้าง ร้อยละ 70 ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง ร้อยละ 50

นอกจากนี้ จัดให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 รักษาในสถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งรัฐ และเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่าย จัดให้มีโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยให้สิทธิฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ณ สถานพยาบาลที่กำหนด ปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ยังมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ให้สามารถรักษาการจ้างงาน ให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคม ในโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อให้สถานประกอบการกู้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการเสริมสภาพคล่องให้มีศักยภาพมีการจ้างงาน อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2563 สปส.ได้ดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือแรงงาน และนายจ้าง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 92,243.69 ล้านบาท

นายทศพล กล่าวว่า สำหรับในปี 2564 ซึ่งยังคงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ สปส.ได้ดำเนินการตามมาตรการ ให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกันตนและนายจ้าง ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน เรื่อง ปรับลด เงินสมทบ ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือในอัตราฝ่ายละร้อยละ 3 และผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 278 บาท ในงวดเดือนมกราคม และเมื่อวันที่ 19 มกราคม มติคณะกรรมการประกันสังคม ยังได้เห็นชอบให้มีการปรับลดเงินสมทบในงวดเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 ฝ่ายนายจ้าง ร้อยละ 3 ฝ่ายผู้ประกันตนมาตรา 33 เหลือในอัตรา ร้อยละ 0.5 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ลดลงเหลือ 38 บาท ให้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน

Advertisement

ตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ร้อยละ 50 เลิกจ้าง ร้อยละ 70 ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง ร้อยละ 50 จัดให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 รักษาพยาบาลทุกแห่ง ทั้งรัฐและเอกชนโดยไม่ต้องสำรองจ่าย เพิ่มสิทธิการตรวจสอบคัดกรองเชิงรุก โดยออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์ กรณีคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการสำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และในปีนี้ สปส.จะดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือ เพื่อแบ่งภาระค่าใช้จ่ายให้กับแรงงาน นายจ้าง ประมาณการเป็นเงินทั้งสิ้น 62,201 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image