สธ.เปิดคู่มือป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษา เคาะวันเปิด 1 ก.พ.นี้

สธ.เปิดคู่มือป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษา เคาะวันเปิด 1 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการผ่อนคลายมาตรการเปิดสถานศึกษา ว่า สถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในเด็กอายุ 0-18 ปี พบว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – วันที่ 24 มกราคม 2564 รวมทั้งหมด 278 ราย กลุ่มอายุไม่ค่อยแตกต่างกันมาก และยังไม่พบผู้ติดเชื้อรุนแรงหรือเสียชีวิต ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ ในการระบาดรอบแรกมาจากต่างประเทศ ส่วนรอบใหม่เป็นการติดเชื้อในประเทศ ติดจากคนในพื้นที่ ครอบครัว สัมผัสผู้ป่วยและยังไม่พบข้อมูลว่าครูในโรงเรียนติดเชื้อแล้วนำมาแพร่ให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการเสนอมาตรการผ่อนคลายต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.

นพ.สราวุฒิ กล่าวถึงผลกระทบของการปิดเรียนว่า เด็กขาดการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม พัฒนาการช้ายิ่งขึ้น ขณะที่ข้อมูลจากยูนิเซฟรายงานว่า ทำให้เด็กติดเกมมากขึ้นด้วย โดยเด็กในเมืองสั่งอาหารฟาสฟู้ดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 เสี่ยงต่อภาวะอ้วนและเริ่มอ้วนขึ้น ส่วนเด็กชนบทกลับไม่ได้รับอาหารกลางวัน นอกจากนั้น กลุ่มเด็กเปราะบางมีแนวโน้มว่าจะไม่เรียนต่อหรือหยุดเรียนถาวร ส่วนของผู้ปกครองก็ไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้เต็มที่ มีปัญหาในการเรียนออนไลน์ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และส่วนของครู ต้องปรับตัวมากขึ้น ระบบการสอนเปลี่ยนไป

นพ.สราวุฒิ กล่าวถึงมาตรการสำหรับสถานศึกษาในการเปิดเรียน ว่า ได้แก่ มาตรการที่ 1 เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน 6 มิติ คือ 1.ต้องปลอดภัยลดการแพร่เชื้อ 2.ต้องเรียนรู้ที่เหมาะสมทั้งออนไลน์ ออนไซต์ และออนแฮนด์ 3.การครอบคลุมเด็กด้อยโอกาส 4.สวัสดิภาพการคุ้มครอง 5.นโยบาย ดูแลไม่ให้เด็กติดเชื้อ และ 6.การบริหารทรัพยากร มาตรการที่ 2 ให้สถานศึกษาเข้าประเมินตนเอง ผ่านแพลตฟอร์ม Thai STOP COVID-19 ข้อมูลล่าสุด มีความพร้อมเปิดเรียนประมาณร้อยละ 90 มาตรการที่ 3 ยกระดับมาตรการปลอดภัย มั่นใจ ไร้โควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเข้มมาตรการหลัก คือ เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ลดความแออัด ระบายอากาศ ทำความสะอาดจุดเสี่ยง และมาตรการเสริม คือ ต้องเฝ้าระวัง คัดกรองความเสี่ยงของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง สุดท้าย มาตรการที่ 4 การกำกับติดตามและประเมินผล โดยกลไกลร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สธ. ลงพื้นที่ดูความพร้อมเปิดเรียน เมื่อเปิดแล้วก็ต้องประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

Advertisement

“ศบค.ชุดเล็ก เห็นตรงกันว่าน่าจะให้เปิดเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ในสถานศึกษาทั้งเอกชน หรือรัฐบาล ทั้งในและนอกระบบของสังกัด ศธ. ให้เปิดเรียนตามปกติ ทั้งนี้ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ จ.สมุทรสาคร อาจให้ปิดอยู่แต่ระหว่างนั้น สถานศึกษาต้องกำหนดแนวทางการเรียนการสอนตามที่ ศธ. วางไว้ เพื่อให้เด็กขาดกการเรียนรู้ ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จ.นนทบุรี จ.สมุทรปราการ จ.นครปฐม และ จ.ปทุมธานี เปิดการเรียนการสอนได้ แต่ต้องปฏิบัติตามแนวทางของ สธ. อย่างเคร่งครัด” นพ.สราวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า การสลับวันเรียนใน 2 พื้นที่นี้ จะต้องดูจำนวนนักเรียน เพื่อไม่ให้มากเกินไป ขึ้นอยู่กับสถานที่ว่าจะรองรับนักเรียนเพื่อเว้นระยะห่างได้ ในห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศต้องปิดทุก 2 ชั่วโมง เพื่อระบายอากาศ

นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า กลุ่มนักเรียน G เป็นกลุ่มเปราะบาง หากพักในไทย ให้อยู่ระยะยาวไม่ให้เดินทางไปกลับ ส่วนกลุ่มเดิมที่เดินทางไปกลับ ให้เรียนรู้ผ่านระบบออนแฮนด์ โดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานต้นสังกัดในพื้นที่ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ตรวจคนเข้าเมือง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า คู่มือมาตรการร้านอาหารในสถานศึกษา เน้นแหล่งที่มาต้องปลอดเชื้อ อาหารสุกร้อน ส่วนผู้สัมผัสอาหาร แม่ครัวไม่สัมผัสอาหารโดยตรง คัดกรองความเสี่ยงของตัวเอง หากเสี่ยงก็ต้องหยุดงาน และการนั่งรับประทานอาหาร ต้องเว้นระยะห่าง ทำความสะอาดพื้นที่ร่วมบ่อยๆ ไปจนถึงไม่ใช้ช้อนและภาชนะร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image