โควิด ‘ครอบครัวเดือดร้อน’ เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าฯ รอไม่ได้!

โควิด ‘ครอบครัวเดือดร้อน’ เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าฯ รอไม่ได้!

เป็นอีกปีที่หนักหน่วงของครอบครัวไทย ภายหลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจาก “ดิสรัปชั่น” อยู่หลายปี ปีที่ผ่านมาก็ยังต้องสู้กับ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ล่าสุดระบาดระลอกสองแล้ว บัดนี้ครอบครัวไทยเริ่มอ่อนแรง ส่งผลต่อคุณภาพการเลี้ยงดูเด็กลดลง กระทบต่อภาวะโภชนาการและพัฒนาการ ทั้งที่เป็นโอกาสทองในชีวิตที่สมองจะเติบโตดีที่สุด

นำมาสู่การถกเถียงหนักมากกับ “โครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สวัสดิการตามช่วงวัยหนึ่งเดียวของคนไทย ที่ยังให้เฉพาะกลุ่มคนยากจน ต่างจากสวัสดิการเรียนฟรี สวัสดิการเงินผู้สูงอายุ สวัสดิการเงินผู้พิการที่ให้ถ้วนหน้ากันหมดแล้ว

หาทางออกในงานเสวนาออนไลน์ “เพื่ออนาคตที่เป็นธรรมและยั่งยืน ต้องให้เด็กชนะ” จัดโดย สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (จีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กศูนย์ถ้วนหน้า และภาคเครือข่าย ณ เพจเฟซบุ๊กจีดีอาร์ไอ

นางสุนี ไชยรส คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กศูนย์ถ้วนหน้า เล่าเกริ่นว่า มีการพิสูจน์แล้วว่าการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบเฉพาะเจาะจงนี้ทำให้เกิดการตกหล่น มีเด็กยากจนไม่ได้รับสิทธิถึงร้อยละ 30 จากกระบวนการรับรองความยากจน เช่น ต้องมีข้าราชการรับรอง การคำนวณรายได้ครัวเรือนที่เจ้าหน้าที่บางคนอาจไม่เข้าใจ ว่ารวมรายได้ครัวเรือนแล้วต้องนำมาหารด้วยจำนวนสมาชิกทั้งหมดด้วย เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ รัฐเองก็รู้ แต่ทำอะไรไม่ได้ กระทั่งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เห็นชอบขยายการจัดสวัสดิการดังกล่าวแบบถ้วนหน้า ในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 คือเดือนตุลาคม 2564 และมอบหมายให้ พม.นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้นำเสนอ ครม. คณะทำงานเป็นห่วงว่า หาก พม.ไม่เสนอ ครม.ภายในเดือนมีนาคมนี้ จะไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลาตามมจิ กดยช.

Advertisement

ปัจจุบันมีเด็กยากจนอายุ 0-6 ปี ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุน 1.9 ล้านคน รวมใช้งบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี หากจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กแบบถ้วนหน้า จะมีเด็กอายุ 0-6 ปี ได้รับประมาณ 4.2 ล้านคน ใช้งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ทว่าความเดือดร้อนรอไม่ได้ หลายครอบครัวกำลังเผชิญวิกฤต จะมารอเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้าเดือนตุลาคม 2564 อาจไม่ทันการณ์ คณะทำงานจึงเรียกร้องให้ ครม.มีมติพิเศษเพิ่มเติม ในการจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2564

“ในสถานการณ์โควิดระบาดระลอกใหม่ ทำให้หลายกิจกรรมภาครัฐไม่สามารถจัดได้ ทำให้งบประมาณเหลือ เชื่อว่าไม่เกินความพยายามของรัฐบาล ที่จะบริหารจัดการงบประมาณปี 2564 มาจัดสรรเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้าตั้งแต่เดือนมกราคมนี้ เพื่อเป็นของขวัญวันเด็กแก่เด็กไทยทุกคน” นางสุนีกล่าว

สุนี ไชยรส

งานเสวนาเปิดโอกาสให้ผู้ทำงานช่วยเหลือเด็ก ได้ฉายภาพความเดือดร้อนที่รอไม่ได้

Advertisement

นางศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ฯ ที่ออกมาสะท้อนความจริงหลังมีคำสั่งปิดสถานเลี้ยงเด็กทั่วประเทศ ว่า เด็กที่กลับไปอยู่บ้านกว่า 2 แสนคน ขาดการช่วยเหลือเรื่องอาหาร นมจากสถานเลี้ยงเด็ก ทำให้ได้รับอาหาร นมไม่ครบมื้อ ส่งผลต่อภาวะโภชนาการ ทำให้เตี้ยแคระแกร็น หลายคนกลับอยู่บ้าน ไม่ได้เล่นเหมือนตอนอยู่ในศูนย์ ทำให้หยุดการพัฒนาด้านสติปัญญาไป

“ตอนนี้หลายครอบครัวมีความเครียด บางครอบครัวอาจกระทำความรุนแรงต่อลูก บางครอบครัวก็เลี้ยงลูกไม่ไหว อยากส่งลูกเข้าสถานสงเคราะห์ วิกฤตเด็กคือวิกฤตประเทศ เด็กเป็นช่วงสำคัญ หากพ้นช่วงนี้ก็สายเสียแล้ว ฉะนั้นอยากให้รัฐบาลมีมาตรการหลังสั่งปิดสถานเลี้ยงเด็กด้วย” นางศีลดากล่าว

ศีลดา รังสิกรรพุม

ขณะที่ผู้ทำงานด้านแรงงาน ได้สะท้อนภาพครอบครัวไทยกำลังรับมือวิกฤตอย่างอ่อนแรง

นางอภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ตอนโควิดระบาดระลอกแรก มีแรงงานตกงานถึง 1.8 ล้านคน มีธุรกิจปิดกิจการ 4,500 แห่ง แต่จนถึงปัจจุบันที่ระบาดระลอกสอง มีธุรกิจปิดตัวไปแล้วหมื่นกว่าแห่ง แรงงานบ้านเราหลายคนไม่มีเงินเก็บ ค่าชดเชยถูกเลิกจ้างก็ไม่ได้ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมก็ยากลำบากและรอนานมาก ทั้งจะไปสำนักงานประกันสังคม ขอใช้สิทธิเงินชดเชยร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ขั้นตอนก็ยุ่งยาก กว่าจะอนุมัติได้รับเงินก็แทบจะไม่เหลือเงินเก็บให้ใช้แล้ว

ภาคแรงงานพยายามสะท้อนหลากปัจจัย ทำให้เด็กตกหล่นไม่ได้รับสิทธิเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เช่น ความเข้าใจว่าพ่อแม่มีสิทธิประกันสังคม ไม่สามารถใช้สวัสดิการนี้ได้ ทั้งที่ความจริงสามารถขอได้ หรือแรงงานนอกระบบที่รายได้ไต่เส้นเกณฑ์ครัวเรือนยากจน บางเดือนอาจสูงกว่านิดหน่อย บางเดือนอาจต่ำกว่า แต่เป็นเหตุให้ไม่ได้รับสิทธิ เหล่านี้จะหมดไปหากจัดสรรเงินอุดหนุนแบบถ้วนหน้า

อภันตรี เจริญศักดิ์

ด้าน นางมุกดา พงษ์สมบัติ ประธานกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร และรองประธานกรรมการชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย กล่าวว่า เพื่อร่วมด้วยช่วยลูกหลานของเรา ดิฉันอยากเชิญชวน ส.ส.หญิงในสภาฯ ที่มี 80 กว่าคน เพื่อเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ช่วยผลักดันดังกล่าว

เป็นข้อเสนอที่ได้รับการตอบรับจาก ส.ส.หญิงท่วมท้น ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างอาสาไปทำความเข้าใจคนในพรรค เพื่อให้ร่วมสนับสนุนการจัดสรรเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า อาทิ ดร.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ จากพรรคพลังประชารัฐ, นางสาวเพชรชมพู กิจบูรณะ จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย, พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา จากพรรคภูมิใจไทย ฯลฯ

มุกดา พงษ์สมบัติ

เยียวยาครอบครัวไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image