เกาะติด ไทยฉีดวัคซีน สกัด “โควิด-19”

เกาะติด ไทยฉีดวัคซีน สกัด “โควิด-19”

การประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 29 มกราคม มีมติว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะต้องฉีดให้ทุกคนในประเทศไทย ที่รวมถึงแรงงานต่างด้าวด้วย โดยเป็นการร่วมรัฐจ่ายกับภาคเอกชน ธุรกิจ หรือนายจ้าง แต่ยังต้องอยู่ในความสมัครใจ ส่วนในคนไทยจะเป็นการบริการฟรีตามความสมัครใจเช่นกัน และที่สำคัญการฉีดวัคซีนต้องอยู่ในความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีความเป็นธรรม และรวดเร็ว ซึ่งเป็นแผนในระยะถัดไป

แต่ล่าสุด “นพ.โสภณ เมฆธน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เปิดเผยว่า ระยะแรกของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย เพื่อลดจำนวนการป่วย ลดการติดเชื้อในบุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ทำงานด่านหน้า เพื่อป้องกันให้ระบบบริการทางสุขภาพเดินต่อไปได้ เช่น แพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทหาร ตำรวจ รวมถึงป้องกันการป่วยที่มีอาการรุนแรง

ทั้งนี้ ต้องดูว่าสามารถช่วยลดการติดและแพร่เชื้อหรือไม่ หากทำได้ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล แต่เนื่องจากเรื่องนี้ยังไม่มีผลทางวิชาการ เพราะตอนที่ศึกษาวิจัยวัคซีนเป้าหมาย คือ เมื่อได้รับวัคซีนแล้วจะไม่ป่วย หรือไม่มีอาการรุนแรง ส่วนเรื่องลดการติดเชื้อหรือแพร่โรค ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของประเทศไทยในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ระยะแรกที่ตั้งเป้าไว้คือ 61 ล้านโดส มาจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 26 ล้านโดส ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์

Advertisement

ประเทศไทย และที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส อีกส่วนหนึ่งมาจากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน จำนวน 2 ล้านโดส โดยขณะนี้วัคซีนตัวนี้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนในจีน แต่หากต้องนำมาใช้ในไทยกรณีฉุกเฉิน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเป็นผู้พิจารณา

ขณะที่แผนเดิมของการเดินหน้าผลิตวัคซีนในประเทศไทยโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 26 ล้านโดส จะสำเร็จพร้อมฉีด ซึ่งเป็นความชัดเจนและแน่นอนว่าไทยจะมีวัคซีนฉีดแน่ๆ คือ เดือนมิถุนายน

ทว่า ใน 1 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยพบการระบาดใน จ.สมุทรสาคร ทำให้คณะกรรมการจัดหาวัคซีน ที่มี “นพ.นคร เปรมศรี” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ไปเจรจาเพื่อขอให้บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ส่งวัคซีนจำนวนหนึ่งใน 26 ล้านโดส ตามข้อตกลงเดิม แบ่งส่งมาให้ไทยก่อน

Advertisement

แอสตร้าเซนเนก้า ตอบตกลงจะส่งวัคซีนมาให้ก่อน จำนวน 150,000 โดส

แผนการส่งคือ ทยอยเข้ามาภายในเดือนกุมภาพันธ์ ล็อตแรก 50,000 โดส แต่เนื่องจากขณะนี้ติดปัญหาที่สหภาพยุโรป (อียู) จำกัดการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ทำให้ต้องมีการขยายเวลาออกไป แต่หากวัคซีนมาถึงเมื่อไรก็พร้อมดำเนินการทันที

อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านการจัดส่งล็อตแรก ต้องรอว่าแอสตร้าเซนเนก้าจะมีการดำเนินการอย่างไร ขณะนี้คณะทำงานจัดหาวัคซีนได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

“แผนการนำเข้าวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า จะเข้ามาในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ แผนสำหรับการบริหารก็จะเริ่มในสัปดาห์ที่ 2 ในการนำเข้ากระบวนการของ อย. และสัปดาห์ที่ 3 จึงจะสามารถเริ่มฉีดได้ ในเชิงระบบ หากไม่มีการวางแผน ไม่กำหนดวันแล้วเสร็จ ทั้งข้อมูล การอบรมบุคลากรที่จะฉีด ระบบฝึกซ้อม ก็จะไม่ได้ตามเป้าหมาย จึงต้องกำหนดดีเดย์ หากการฉีดวัคซีนในล็อตแรกที่จะเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์ ต้องเลื่อนออกไปจริง แต่ระบบที่เราเตรียมไว้ ก็จะมีความพร้อมอยู่แล้ว เมื่อมีวัคซีนเข้ามา ก็จะสามารถฉีดได้ทันที” นพ.โสภณกล่าว

ทั้งนี้ แผนการกระจายวัคซีนล็อตแรกจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า 50,000 โดส ที่จะเข้ามาภายในเดือนกุมภาพันธ์ มีมติแล้วว่า จะฉีดให้หมดทั้งล็อต ไม่ต้องเก็บไว้สำหรับเข็มที่ 2 แต่พิจารณาฉีดเฉพาะ 2 กลุ่มแรก คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และ 2.บุคลากรอื่นๆ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าป้องกันโควิด-19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ

ทั้งนี้ ตัวเลขของบุคลากรทั้ง 2 กลุ่มนี้มีมากกว่า 50,000 คน อยู่แล้ว จึงต้องให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่รับผิดชอบ ไปสำรวจความสมัครใจและรายงานตัวเลขกลับมาก่อนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เพื่อนำมาบริหารว่าจะฉีดอย่างไร

โดยระยะแรกต้องฉีดให้กับพื้นที่เสี่ยง 5 จังหวัดก่อน คือ สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี โดยอาจกระจายไปยังโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยง เช่น อ.แม่สอด จ.ตาก ตามลำดับ

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัทอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก 2 บริษัทที่มีขณะนี้ นพ.โสภณกล่าวว่า จริงๆ ไม่ใช่แค่บริษัทเดียว เพราะไม่ได้ปิดโอกาส มีการพิจารณาหารือทั้งหมด ทั้งของซิโนแวค และของอื่นๆ

อย่างของ บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ก็มีการพิจารณาหาข้อมูลอยู่ว่า ใช้เข็มเดียว และประสิทธิภาพเป็นอย่างไร เพราะล่าสุดมีข่าวถึงประสิทธิภาพออกมา เราต้องมาศึกษาทั้งหมด รวมทั้งของโนวาแวกซ์ ก็ต้องพิจารณา แต่หากมีวัคซีนหลายชนิด หลายบริษัทเข้ามาในไทย ก็จะต้องมีการวางแผนที่มากขึ้น เพื่อติดตามให้ผู้ได้รับวัคซีนในแต่ละชนิดที่มีการนัดหมายฉีดเข็มที่ 2 ต่างกัน ต้องติดตามมาฉีดให้ครบและถูกต้อง รวมถึงวางแผนการติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดด้วย ส่วนนี้ก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญของคณะทำงาน

“ขอย้ำว่า แผนการจัดบริการวัคซีนโควิดยังต้องมี เพื่อรองรับไว้เมื่อวัคซีนโควิด-19 มาถึง ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่เดิมมีแผนในการผลิตร่วมกับทาง แอสตร้าเซนเนก้า มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ให้ทางบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นผู้ผลิตยังคงมีอยู่เช่นเดิม โดยแผนเมื่อผลิตก็จะเริ่มฉีดได้ช่วงเดือนมิถุนายนนี้” นพ.โสภณกล่าว

การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในประเทศไทย เป็นการฉีดตามความสมัครใจ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการสำรวจความสมัครใจด้วยเช่นกัน

นพ.โสภณกล่าวย้ำถึงเรื่องนี้ว่า ระหว่างนี้อยู่ในระหว่างกำลังดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อ จะบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน ทั้งของแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค และภาพรวมทั้งหมดผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อม ทำความเข้าใจว่า หากจะฉีดวัคซีนจริงๆ จะต้องใช้เวลานานราวกี่นาที มีขั้นตอนอย่างไร ซึ่งกระบวนการนี้จะมีการทำเป็นวิดีโอสาธิต เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image