โควิด-19 รอบใหม่ ทำบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อ 36 ราย 12 จว.

โควิด-19 รอบใหม่ ทำบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อ 36 ราย 12 จว. ย้ำ ปชช.ไป รพ.-คลินิก ต้องแจ้งประวัติเสี่ยง

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า วันนี้พบบุคลากรสาธารณสุขเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นรายแรกของประเทศไทย ผู้เสียชีวิต เพศชาย อายุ 66 ปี เป็นแพทย์เกษียณอายุ มีโรคประจำตัว คือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมากและแพร่กระจายไปยังปอดบางส่วน อาศัยอยู่ใน จ.มหาสารคาม เปิดคลินิก 2 แห่ง คือ คลินิกรักษาโรคไตและหน่วยไตเทียมและคลินิกปัญญา ตามที่มีไทม์ไลน์ปรากฎตามสื่อต่างๆ ไปแล้วซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเสียสละของคุณหมออย่างมาก เนื่องจากมีโรคประจำตัว อาการค่อนข้างหนักแต่ยังรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า นพ.ปัญญา มีประวัติตรวจรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์โต๊ะแชร์ เป็นผู้ที่มีอาการน้อย ซึ่งขณะนั้น ยังไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อ จำนวน 3 ราย ระหว่างวันที่ 13-28 มกราคม แต่หลังจากที่ทราบว่าผู้ป่วยดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 นพ.ปัญญา ก็แยกตัวออกจากผู้อื่นและไม่ได้ไปทำงาน เมื่อวันที่ 29 มกราคม ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ผลไม่พบเชื้อ หลังจากนั้นเริ่มมีอาการไข้ ครั่นเนื้อตัว โดยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ผลตรวจครั้งที่ 2 พบเชื้อ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เข้ารักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) มหาสารคาม อาการแย่ลง ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เวลา 01.00 น. เป็นภายหลังของการตัดยอดตัวเลขเวลา 00.00 น.ในรอบวัน จึงต้องนำไปแถลงข้อมูลในวันพรุ่งนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2564)

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า การติดโควิด-19 ในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข สำหรับการระบาดรอบใหม่ ข้อมูลวันที่ 15 ธันวาคม 2563 มีจำนวน 36 ราย เป็นคนไทยทุกราย ซึ่ง นพ.ปัญญา เป็นรายแรกที่เสียชีวิต ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า เป็นเพศหญิงมากกว่าชาย อัตรา 2.3 ต่อ 1 อายุเฉลี่ย 30 ปี อายุน้อยที่สุด 21 ปี เป็นนักศึกษาแพทย์ ส่วนมากที่สุดอายุ 70 ปี เป็นแพทย์เกษียณอายุ ในจำนวน 36 ราย แบ่งเป็น แพทย์ 4 ราย พยาบาล 9 ราย เภสัชกร 3 ราย นักเทคนิครังสี/ผู้ช่วย 2 ราย เจ้าหน้าที่ใน รพ. 4 ราย เจ้าหน้าที่ชันสูตร ธุรการ ประชาสัมพันธ์ 8 ราย และ ผู้ช่วยพยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักศึกษาแพทย์ พนักงานเวรเปล อย่างละ 1 ราย ทั้งนี้ กระจายไปใน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 12 ราย สมุทรสาคร 12 ราย นนทบุรี 3 ราย เพชรบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น ชลบุรี ตาก ปทุมธานี ราชบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง จังหวัดละ 1 ราย

“ส่วนใหญ่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว รวมถึงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อใน รพ. เช่น นักศึกษาแพทย์ ใน จ.ปทุมธานี คาดว่าติดเชื้อจากการรักษาผู้ป่วยที่มีมารักษาอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาจมีอาการไอร่วมด้วย ขณะรับการตรวจผู้ป่วยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย โดยแพทย์ใกล้ชิดผู้ป่วยในระหว่างตรวจมาก จึงมีโอกาสติดเชื้อค่อนข้างง่าย” นพ.จักรรัฐ กล่าว

Advertisement

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย จังหวัดต่างๆ ควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี โดยต้องเน้นย้ำว่า ผู้ป่วยด้วยอาการโรคต่างๆ ซึ่งอาจไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 หากไปพบแพทย์ทั้งใน รพ.หรือ คลินิก ของภาครัฐและเอกชน ให้ผู้ป่วยและญาติแจ้งประวัติเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่ซักประวัติ เช่น ไปในที่ชุมชนที่มีคนหนาแน่น เข้าพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาด งานเลี้ยงโต๊ะแชร์ วงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัมผัสกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า หรือสงสัยว่าติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงและไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน ไตเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหลังรับเชื้อ ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่เสี่ยง หรือสถานที่แออัด แต่หากจำเป็นต้องเดินทางไปก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน ล้างมือตลอดเวลา ลดการพูดคุยกับผู้อื่น เช่น ระหว่างรับประทานอาหาร เพื่อลดความเสี่ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image