พีมูฟ ร่อนจดหมายถึง ‘ป้อม-ธรรมนัส’ จี้ยุติดำเนินการ ‘พิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ แก้ปัญหาบางกลอย

พีมูฟ ร่อนจดหมายถึง ‘ป้อม-ธรรมนัส’ จี้ยุติดำเนินการ ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ แก้ปัญหาบางกลอย ย้ำ ละเมิดบันทึกข้อตกลง

จากกรณีที่ นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีวว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และรองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับมอบหมายจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คุมยุทธการ “พิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” หลังพบผู้บุกรุกพื้นที่ป่าบางกลอยบน ที่ห่างจากบางกลอยล่างประมาณ 13 กิโลเมตร พบว่ามีการถางและเผาป่าหลายพื้นที่

ในเวลาต่อมา นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) หนึ่งในคณะทำงานแก้ปัญหาบางกลอย (ภาคประชาชน) เปิดเผยรายละเอียดทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ทส.ขีดเส้นตาย 18.00 น. วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ต้องไม่มีชาวบ้านอยู่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยช่วง 09.00 น. มีการนำ ฮ. ขึ้นจากหน่วย กจ.10 บ้านบางกลอย

ส่งผลให้โลกออนไลน์ร่วมกันจับตากรณีดังกล่าว พร้อมร่วมกันติดแฮชแท็ก #saveบางกลอย

Advertisement

ขณะเดียวกัน ภาคี #saveบางกลอย นัดรวมตัวกันที่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ เวลา 17 นาฬิกา วันเดียวกัน (22 กุมภาพันธ์) เนื่องจากรัฐบาลตระบัดสัตย์ ทรยศชาวบ้านบางกลอย ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเพื่อทำให้รัฐไทยรับรู้ว่า “คนต้องเท่ากัน ชาติพันธุ์ก็คือคน”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ เผยแพร่จดหมายด่วนที่สุดของพีมูฟ โดย นายประยงค์ ดอกลำใย คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกกลอย จังหวัดเพชรบุรี ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เรื่อง ขอให้ยุติการดำเนินการตามยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร และเร่งรัดการแก้ไขปัญหา กรณีชุมชนบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี

เรียน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ผ่าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

Advertisement

สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ระหว่างตัวแทนรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ภาคี#SAVEบางกลอย และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564

เนื้อหาจดหมายระบุว่า สืบเนื่องจากกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และภาคี #SAVEบางกลอย ได้ปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานอนุกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เดินทางมารับขอเรียกร้องและเปิดให้มีการเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม, ผู้แทนภาคี #SAVEบางกลอย และผู้แทนชุมชนบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย)

ต่อมารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีการสั่งการให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกกลอย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายพงษ์บุญย์ ปองทอง) เป็นประธาน เร่งรัดการลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลปัญหาความต้องการของชาวบางกลอย

รวมทั้งเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคณะทำงานฯ ได้กำหนดให้มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในระหว่างวันที่ 19-23 กุมภาพันธ์ 2564

แต่ในระหว่างที่คณะทำงานฯ ลงพื้นที่ในชุมชนบ้านบางกลอย ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้นำคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายจงคล้าย วรพงศธร) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 3 ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (เนตรนภา งามเนตร) ผู้แทนหน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ ผู้แทนสมาคมอนุรักษ์อุทยาน และสื่อมวลชน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และได้มีการนำภาพพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชาวบ้านไปบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด ด้วยวาทกรรม “บุกรุกป่า เผาป่า และทำไร่เลื่อนลอย”

ทั้งที่ข้อเท็จริง ภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะจากการนำเสนอของสื่อมวลชนบางฉบับนั้นคือภาพพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของบรรพบุรุษก่อนการถูกกดดันอพยพลงมาในปี 2554 ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากการอ่านภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง

ดังนั้น การนำเสนอภาพข่าวดังกล่าว จึงเป็นการจงใจบิดเบือนเพื่อทำให้ประชาชนและสาธารณะเกิดความเข้าใจผิดต่อกลุ่มชาวกะเหรี่ยงบางกลอยรวมถึงระบบไร่หมุนเวียน (ซึ่งเป็นระบบวนเกษตรที่มีงานวิจัยทางวิชาการสนับสนุนว่าเป็นระบบการผลิตที่มีความยั่งยืนสอดคล้องกับระบบนิเวศวิทยา) และนำไปสู่ข้ออ้างของกรมอุทยานแห่งชาติในการสนธิกำลังและปฏิบัติการตามยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี พบว่ามีการสนธิกำลังประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กองร้อย ตชด.144 ทหาร ฉก.ทัพพระยาเสือ ทหารรบพิเศษที่ 1 แก่งกระจาน กองกำกับการ 5 บก.ปทส. กองร้อยน้ำหวาน อช.แก่งกระจาน กองบิน ทส. หน่วยฯ พญาเสือ สำนักป้องกันฯ กรมอุทยานฯ จำนวนนับประมาณ 100 นาย เพื่อปฏิบัติการภายใต้ ยุทธการพิทักษ์ต้นน้ำเพชร

อ่านข่าว : ทส.เปิด ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ หลังพบถาง-เผา แก่งกระจานกว่าร้อยไร่
เปิดไทม์ไลน์ กวาดกลุ่มชาติพันธุ์ พ้น ‘ใจแผ่นดิน’ พีมูฟเผย จนท.คุมตัวชาวบ้าน จี้เซ็นเอกสาร

โดยเมื่อเวลา 08.00 น. ได้เริ่มมีการขนส่งกำลังด้วยเฮลิคอปเตอร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 2 ลำ ขึ้นไปยังบริเวณพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยไม่มีการชี้แจงถึงเหตุผลต่อปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้คณะทำงานฯ ซึ่งกำลังดำเนินการเก็บข้อมูลร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต้องยุติการทำงานลงโดยทันที

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติได้ให้เหตุผลในการปฏิบัติการครั้งนี้แก่คณะทำงานฯว่า ชาวบ้านไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง (MOU) โดยมีการขยายพื้นที่เพิ่ม และพบมีการเผาแปลงที่ดินทำกิน จึงจำเป็นต้องมีการปฏิบัติการ ทั้งนี้คณะทำงานฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันต่อคณะทำงานฯ ในกรณีดังกล่าวดังต่อไปนี้

1.ชาวบ้านได้ยุติการแผ่วถางไร่หมุนเวียนแปลงสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเวลา 3 วัน ก่อนชาวบ้านจะไปปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล และมีการเจรจากับรัฐบาลจนได้บันทึกข้อตกลง (MOU) ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564

2.แปลงที่ชาวบ้านขึ้นไปแผ้วถางเป็นพื้นที่ “ไร่ซาก” ซึ่งเป็นที่ดินทำกินเดิมก่อนชุมชนจะถูกอพยพลงมาในปี 2539 และ 2554 ซึ่งเป็นอยู่ในแผนของคณะทำงานฯ ที่จะดำเนินการตรวจสอบโดยใช้การอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง เพื่อให้ได้ข้อยุติว่าเป็นพื้นที่ทำกินเดิมของชุมชนเดิมหรือไม่ และนำเสนอผลต่อ รมต.ทส.พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป

3.กรณีพบการเผาพื้นที่จำนวน 2 แปลง ชาวบ้านให้เหตุผลว่าเป็นการเผากำจัดเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในระบบการทำไร่หมุนเวียน โดยแปลงที่มีการเผาใบไม้ กิ่งไม้แห้งสนิทแล้ว และก่อนเผามีการทำแนวกั้นไฟเพื่อไม่ให้ไฟลุกลาม หากล่วงเลยระยะเวลานี้ อาจมีฝน ทำให้ไม่สามารถทำกินได้


คณะทำงานฯ เห็นว่าชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงทุกข้อตามที่เจรจากับรัฐบาลจนได้ข้อยุติ ในขณะที่รัฐพยายามอ้างข้อกฎหมาย ชาวบ้านกำลังปฏิบัติอยู่ในกฎกติกาที่ตกลงร่วมกับภาครัฐ

ดังนั้นคณะทำงานฯ จึงมีข้อเรียกร้องเร่งด่วน ดังนี้

1.ยุติการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินโดยทันที และให้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ภายในวันนี้ (22 ก.พ.) เพื่อให้การเก็บข้อมูลของคณะทำงานฯ ซึ่งอยู่ในช่วงระยะการดำเนินงาน ตามคำสั่งของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้

2.สั่งการให้มีการสอบสวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ซึ่งเป็นการละเมิดบันทึกข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหากรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน ระหว่างผู้แทนรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ภาคี#SAVEบางกลอย และชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image