สธ.ห่วงสถานการณ์การเมืองทำเมียนมาทะลักเข้าไทย จี้รัฐเตรียมศูนย์อพยพกักโควิด-19

แฟ้มภาพ
สธ.ห่วงสถานการณ์การเมืองทำเมียนมาทะลักเข้าไทย จี้รัฐเตรียมศูนย์อพยพกักโควิด-19

วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2564) นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ว่า สถานการณ์ใน อ.แม่สอด นั้น ขณะนี้ไม่มีความกังวลมาก เนื่องจาก สธ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตาก รวมทั้ง ศบค. มีการดำเนินการต่างๆ ทั้งตรวจคัดกรองเชิงรุก การลงพื้นที่ไปตลอดเวลา มีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพียงแต่สิ่งที่ประชาชนกังวลคือ ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่เรื่อยๆ แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ติดเชื้อดังกล่าวอยู่ในมือแพทย์แล้ว และมีการขยายผลในการติดตามผู้สัมผัสต่างๆ จะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้ป่วยพื้นที่แม่สอดมีเรื่อยๆ แต่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยได้

“แต่สิ่งสำคัญที่ สธ. เตรียมพร้อมคือ กรณีข้อกังวลสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อม เพราะเข้าใจว่า จะมีการอพยพจากปัญหาการเมืองเข้ามายังไทย ซึ่งคนของเมียนมาที่เป็นผู้ลี้ภัยก็อาจต้องเข้ามาอยู่ในชายแดนไทย” นายธนิตพล กล่าวและว่า ในเรื่องการจัดการจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ฝ่ายความมั่นคงจะมีการดำเนินการอย่างไร ให้การอพยพเหล่านี้จะไม่กระทบต่อการเมืองทั้ง 2 ประเทศ และ ส่วนที่ 2 เรื่องการสาธารณสุข เพราะการอพยพเข้ามา ผู้อพยพอาจติดเชื้อโควิด-19 และอาจทำให้ไทยควบคุมโรคนี้ได้ยาก ซึ่งล่าสุดได้มีการสั่งการเรื่องนี้ให้ สสจ. เตรียมความพร้อมรองรับผู้อพยพ หากมีการอพยพขึ้นมา ซึ่งจากมาตรการที่ทำอยู่ปกติ เชื่อว่าจะควบคุมโรคโควิดได้ในระดับหนึ่ง

นายธนิตพล กล่าวว่า ต้องยืนยันว่า เรื่องนี้ สธ.ไม่สามารถดำเนินการได้ฝ่ายเดียว ต้องอาศัยหลายหน่วยงานในการบูรณาการร่วมกัน เช่น ปภ. ต้องช่วยในเรื่องการเตรียมพื้นที่รองรับหากมีการอพยพเกิดขึ้น และต้องไปชี้แจงประชาชนให้ทราบให้เข้าใจเรื่องนี้ รวมทั้งในเรื่องความมั่นคงก็ต้องมีมาตรการในการเข้ามาประเทศไทยว่า จะทำอย่างไร เพราะถ้ารอให้เข้ามาประเทศไทยแล้ว และอาศัยศูนย์อพยพ หรือรอให้ยูเอ็นเอสซีอาร์ (UNSCR) หรือองค์กรระหว่างประเทศ เข้ามาจัดการนั้น เป็นห่วงว่า จะเป็นการสร้างปัญหาภายในศูนย์อพยพ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมเป็นความยากของคนไทย เนื่องจากเราเจอ 2 สถานการณ์ด้วยกัน ทั้งเรื่องโควิด-19 และเรื่องความมั่นคง และทั้ง 2 สถานการณ์ ผู้บริหารสถานการณ์ไม่ใช่คนคนเดียวกัน

“ผมคิดว่า ถ้าเราเตรียมความพร้อมไว้ในส่วนที่เรารับผิดชอบก็จะช่วยได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศูนย์อพยพไม่มีคนเข้าออกมานานแล้ว เพราะเป็นศูนย์อพยพเก่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า คงหนีไม่พ้นหากมีกลุ่มอพยพเข้ามา ซึ่งเราก็มีมาตรการการล็อกดาวน์ มีการกักกันโรค (ควอรันทีน) แต่ปัญหาคือ ผมกังวลในเรื่องการอพยพทางการเมือง จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมทั้งหมดเพื่อรองรับเรื่องนี้ โดยล่าสุดได้แจ้งไปยัง สสจ. ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ในการดำเนินการสั่ง ปภ.ดำเนินการเรื่องนี้อีกที แต่ก็เข้าใจว่า เรื่องนี้ค่อนข้างยาก เพราะการหาพื้นที่รับผู้อพยพก็ยากแล้ว และผู้อพยพมีความเสี่ยงโควิด-19 ก็ยากไปอีก แต่ก็ต้องร่วมกันทำ” นายธนิตพล กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อกังวลการอพยพเข้ามายังไทย คาดว่าจะเร็วสุดเมื่อไร นายธนิตพล กล่าวว่า คิดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะ 1-2 สัปดาห์ เพราะสถานการณ์การเมืองบ้านเมียนมาค่อนข้างรุนแรงในระดับหนึ่ง ส่วนช้าที่สุดประเมินไว้เฝ้าระวังต่อไป 1 เดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image