กรมอุทยาน-จุฬา-ม.เกษตร ประสานเสียง ค้างคาวในไทย แค่ รหัสพันธุกรรมคล้าย โควิด19 ยัน ไม่ติดต่อสู่คน

กรมอุทยาน-จุฬา-ม.เกษตรประสานเสียง ค้างคาวในไทย แค่ รหัสพันธุกรรมคล้าย โควิด19 ยันไม่ติดต่อสู่คน

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ แถลงข่าว “ไขปริศนาโควิด-19 กับสัตว์ป่า” โดยกล่าวว่า กรมอุทยานฯ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าประเทศไทยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยค้างคาวอย่างน้อย 146 ชนิด ทั่วประเทศ และพบสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาจากค้างคาวมากกว่า 400 ตัวอย่าง ทั้งที่เป็นไวรัสเดิมที่พบทั่วโลก และไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มีรายงานก่อโรคในคน ทั้งนี้แม้ปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบการติดเชื้อในคน แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนให้มีการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์ไปยังสัตว์อื่นที่อาจกลายพันธุ์ติดต่อสู่คนได้ในอนาคต รวมทั้งติดต่อสู่คนได้โดยตรง ซึ่งการแพร่เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์จากสัตว์ป่ามาสู่คนนั้น อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด การปนเปื้อนเชื้อโรคจากซากสัตว์ป่า หรือการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า ดังนั้นการป้องกันคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่า งดล่าหรือการบริโภคสัตว์ป่าและไม่บุกรุก ทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า

นางรุ่งนภา กล่าวต่อว่า สำหรับการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอุบัติใหม่และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ 1. การสำรวจไวรัสโคโรนาและเชื้อโรคอุบัติใหม่ในค้างคาวอีก 23 ชนิด รวมทั้งสัตว์ป่าของกลาง สัตว์ป่าพลัดหลง และสัตว์ป่าในธรรมชาติ 2.วางมาตรการความปลอดภัยในการท่องเที่ยวที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ 3.มาตรการความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับสัตว์ป่า เป็นต้น

Advertisement

รุ่งนภา พัฒนวิบูลย์

ด้าน นส.สุภาภรณ์ วัชรพฤกษาดี ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า เรื่องการสำรวจและเฝ้าระวังเชิงรุกในค้างคาวและลิ่น ที่มีการตีพิมพ์ในวาระสาร Nature แล้วมีการนำไปอ้างอิงที่คลาดเคลื่อน เป็นการศึกษาวิจัยเชิงรุก ตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาว ที่พบว่ามีรหัสพันธุกรรมคล้ายคลึง กับโควิด 19 นั้น ยืนยันว่า เชื้อไวรัสโคโรนาที่พบไม่สามารถติดต่อมาสู่คนได้โดยตรง งานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบัน คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ กรมอุทยานฯ เพื่อค้นหาต้นตอของไวรัส SARs-C0V-2 ในค้างคาวมงกุฎ ซึ่งจากรายงานการวิจัยของประเทศจีนที่เผยแพร่เพื่อเดือน มกราคม 2563 ว่าพบเพื่อไวรัสคล้าย SARS-CoV-2 ในค้างคาวมงกุฎเทาแดงที่ประเทศจีน ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมคล้ายกับที่พบในมนุษย์ถึง 96% และเป็นไวรัสที่มีความสามารถในการเข้าเซลมนุษย์ผ่าน ACE-2 receptor ได้นั้น ก่อให้เกิดคำถามต่อมาว่าในประเทศไทยจะมีการพบไวรัสในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ และจะมีโอกาสเป็นต้นตอของโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ในไทยหรือไม่

Advertisement

นส.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ในเดือน มิถุนายน 2563 ได้ลงพื้นที่สำรวจค้างคาวมงกุฎในหลายพื้นที่ และถ้ำหลายแห่งที่เป็นแหล่งเกาะนอนของค้างคาวมงกุฎยอดสั้นใหญ่ จึงทำการจับค้างคาว 100 ตัว และเก็บตัวอย่างมูลค้างคาวและเลือด พบว่าไวรัสมีลักษณะคล้าย SARS-COV-2 ที่ก่อโรคในมนุษย์ 91% โดยเป็นกลุ่มไวรัสที่ไม่มีความสามารถในการเข้าเซลมนุษย์ผ่านตัวรับ ACE-2 ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นไวรัสที่ยังไม่สามารถก่อโรคในมนุษย์ได้ นอกจากนี้การสำรวจไวรัส SARS-COV-2 ในลิ่นพลัดหลงไม่ทราบแหล่งที่มา จำนวน 10 ตัว ไม่พบสารรหัสพันธุกรรมไวรัสจากมูลและน้ำลายของลิ่นทั้ง 10 ตัว แต่ตรวจพบ ลิ่นจำนวน 1 ตัว มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส SARS-COV-2 จากการตรวจพบ Neutralizing antibody หรือสารแอนติบอดีที่แสดงลิ่นตัวดังกล่าวเคยติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันมาแล้ว อย่างไรก็ตามเวลานี้ยังไม่มีการยืนยันว่าค้างคาวหรือลิ่นเป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำลังตรวจสอบอยู่

นส.สุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอแนะคือ 1. ควรมีการสำรวจเชื้อไวรัส SARS-COV-2 ในค้างคาว และลิ่น รวมถึงสัตว์ชนิดอื่นที่อาจเป็นตัวกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคอุบัติใหม่หรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ 2. งดการล่า-ค้าสัตว์ป่า เพื่อลดโอกาสการเกิดโรคอุบัติใหม่ และ 3. งดการบุกรุกและทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า

สมปอง ทองสีเข้ม

นายสมปอง ทองสีเข้ม ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า จากกรณีสื่อต่างประเทศ เปิดเผยข้อมูลว่า ตลาดนัดจตุจักร อาจเป็นต้นกำเนิดนำเชื้อโควิด – 19 ก่อนอู่ฮั่น นั้น กรมอุทยานแห่งชาติฯ ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง โดยตลาดในเขตพื้นที่นั้นคือ ตลาดศรีสมรัตน์ เป็นตลาดเอกชนที่อยู่ ข้างเคียงกับตลาดนัดจตุจักร เป็นตลาดจำหน่ายสัตว์เลี้ยง สัตว์ปีก ปลาสวยงาม ที่มีการลักลอบค้าสัตว์ป่าในอดีต โดยวันที่ 20 มีนาคม 2563 กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้ สำรวจชนิดสัตว์ที่มีการค้าในจตุจักรว่ามีการลักลอบค้าสัตว์ป่าหรือไม่ พร้อมทั้งร่วมลงพื้นที่ทำความสะอาด ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ และสุ่มเก็บตัวอย่างเชื้อโรคจากสัตว์ที่มีการค้าในตลาดนัดสวนจตุจักร เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสระดับวงศ์ (Family) ในกลุ่ม Paramyxovirus และ Coronavirus พบว่า 1.กระรอก พบเชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus กลุ่มย่อยชนิด Alpha (ไม่ติดสู่คน) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ COVID-19 ที่อยู่ในกลุ่มย่อยชนิด Beta 2. กลุ่มแมว พบ เชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus กลุ่มย่อยชนิด Alpha (ไม่ติดสู่คน) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ COVID-19 ที่อยู่ในกลุ่มย่อยชนิด Beta เชื้อไวรัสในกลุ่ม Paramyxovirus 3. สุนัข พบเชื้อไวรัสในกลุ่ม Coronavirus กลุ่มย่อยชนิด Alpha (ไม่ติดสู่คน) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับ COVID-19 ที่อยู่ในกลุ่มย่อยชนิด Beta 4.กลุ่มหนู ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 5. เม่นแคระ ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม

6. กระต่าย ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 7. ลิงมาโมเสท ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 8. ชูการ์ไกลเดอร์ ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 9. เมียร์แคท ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 10. หมูแคระ ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 11. แพรี่ด็อก ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม 12. ชินชิล่า ไม่พบเชื้อไวรัสทั้งสองกลุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image