อย. เปิดเวทีแจงยิบ ปลูกกัญชา กัญชง อย่างไรให้ถูกกฎหมาย ย้ำ พร้อมให้คำปรึกษาทุกขั้นตอน

อย. เปิดเวทีแจงยิบ ปลูกกัญชา กัญชง อย่างไรให้ถูกกฎหมาย ย้ำ พร้อมให้คำปรึกษาทุกขั้นตอน

 

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ในงาน “มหกรรมกัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” ภก.สัญชัย จันทร์โต กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวบนเวทีสัมมนาในหัวข้อ “การกำกับดูแลและการนำกัญชากัญชงไปใช้ประโยชน์ภายใต้กฎหมายใหม่”

ภก.สัญชัย กล่าวว่า การส่งข้อมูลสำคัญในการขออนุญาตปลูกพืชกัญชาคือ การรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน ขั้นตอนการเตรียมสถานที่ และการขออนุญาตปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(พรบ.) ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ระบุชัดเจนว่าจะต้องอยู่ในการควบคุมของรัฐ โดยหน่วยย่อยที่สุดในการขออนุญาตร่วมปลูกได้คือวิสาหกิจชุมชน ซึ่งในความหมายคือ การรวมตัวกันของประชาชนมากกว่า 7 คนขึ้นไปที่ปลูกพืชชนิดอื่นๆ อยู่แล้วและได้รับใบอนุญาตเป็นวิสาหกิจชุมชน หลังจากนั้นนำใบอนุญาตไปขึ้นทะเบียนปลูกกัญชาเพิ่มกับ อย. โดยทางกฎหมายวิสาหกิจชุมชนต้องปลูกร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) โดยมีผู้อำนวยการรพ.สต. ร่วมกับประธานวิสาหกิจชุมชนถือใบอนุญาตคู่กัน

Advertisement

“เกิดเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกให้กับประชาชนการขออนุญาตสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) หรือติดต่อโดยตรงที่ อย. เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ช่อดอก ใบรองดอกและเมล็ดกัญชา ยังเป็นยาเสพติดอยู่ ดังนั้น ต้องปลูกจากเมล็ดพันธุ์ที่ถูกกฎหมาย ซึ่งขอรับเมล็ดพันธุ์ได้จากเขตสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในจังหวัดของตนเอง” ภก.สัญชัย กล่าว

 

ภก.สัญชัย กล่าวว่า การปลูกกัญชา อย. ไม่ได้บังคับว่าจะปลูกจากเมล็ดหรือต้นอ่อน แต่คำแนะนำคือ ควรปลูกจากต้นเพศเมียซึ่งมีช่อดอก ซึ่งอยู่ในยาเสพติดให้โทษ โดยต้องนำส่งให้ รพ.สต. คู่สัญญาเพื่อผลิตเป็นยาทางการแพทย์ ดังนั้น การปลูกจากเมล็ดเหมือนเป็นการลุ้นล็อตเตอรี่ ซึ่งไม่รู้ว่าโตมาแล้วจะเป็นเพศอะไร ดังนั้นการปลูกจากต้นกล้าอ่อนจะดีกว่า ซึ่งกัญชา 1 ต้น จะให้ช่อดอกสดต่ำที่สุดประมาณ 0.5 กิโลกรัม(ก.ก.) คิดเป็นกิโลกรัมแห้ง 0.12 ก.ก. ส่วนใบสด กิ่ง ก้าน รวมประมาณ 2 ก.ก. ดังนั้นหากปลูก 6 ต้น ก็จะได้ช่อดอกสด 6 ก.ก. ช่อดอกแห้ง 0.6 ก.ก. ซึ่งในขณะนี้ อย. ปลดล็อกส่วนของพืชกัญชาทุกส่วน ยกเว้นช่อดอก ใบรองดอก และเมล็ด ออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษแล้ว ดังนั้น รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วก็จะต้องไปดูว่าเราจะนำส่วนที่ปลดล็อกไปทำอะไร ส่วนช่อดอกและเมล็ดกัญชา ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษ จะต้องส่งมอบให้กับรพ.สต.คู่สัญญา

Advertisement

ภก.สัญชัย กล่าวว่า ต่อมาเป็นส่วนของการปลูก กัญชา จะต้องระบุแบบแปลน พิกัดภูมิศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมาย ไปจนถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้มีการขออนุญาตให้ปลูกในบ้านได้แล้ว แต่ต้องมีแนวกั้นเพาะปลูกกัญชาที่ชัดเจน ติดรั้วลวดหนาม มีรั้วป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก สูงประมาณ 1.5-2.0 เมตร บริเวณหน้าประตูทางเข้าแปลง ติดป้ายสีน้ำเงินระบุข้อความว่าสถานที่ผลิตยาเสพติดให้โทษ

ภก.สัญชัย กล่าวว่า ขณะเดียวกันการปลูกพืชกัญชง ที่มีความแตกต่างจากพืชกัญชา คือ มีสารสำคัญ THC น้อยกว่า 1.0 เปอร์เซ็นต์ มากกว่านั้นจะกลายเป็นกัญชาทันทีต้องใช้ในทางการแพทย์หรือศึกษาวิจัยเท่านั้น ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ส่วนของกัญชงที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษมีเพียงช่อดอกและใบรองดอกที่ห่างจากช่อดอก 30 เซนติเมตร ขณะที่ กฎกระทรวงฯ เรื่องกัญชง ฉบับเดิมอนุญาตปลูกโดยรัฐเท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2564 ที่ออกมาใช้แทนประกาศฉบับเก่า ระบุว่าขณะนี้การขออนุญาตปลูกกัญชงสามารถปลูกได้โดยบุคคลทั่วไป นิติบุคคล เอกชน หรือวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ยังสามารถขออนุญาตสกัดกัญชงได้อีกด้วย ขณะเดียวกัน เมล็ดกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น ผู้ที่ขออนุญาตปลูกแล้วสามารถนำเข้าเมล็ดได้จาก 3 แหล่งที่มา ประกอบด้วย การนำเข้าเมล็ดกัญชง เมล็ดพันธุ์รับรอง 4 สายพันธุ์และเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน แต่ที่สำคัญคือจะต้องเป็นสายพันธุ์ที่ให้สาร THC ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง

 

“ตามบทเฉพาะกาลของ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 ในระยะ 5 ปีแรก จะไม่อนุญาตนำเข้าทุกส่วนของกัญชง ยกเว้นเมล็ดเพื่อการปลูกเท่านั้น ไม่สามารถนำเข้าเมล็ดเพื่อนำมาสกัดทำในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ผู้ที่จะใช้ประโยชน์จากกัญชงจะต้องเป็นสิ่งที่ปลูกใช้ภายในประเทศเท่านั้นไม่สามารถนำเข้าส่วนใดของกัญชงยกเว้นเมล็ดที่จะนำมาปลูก เพราะหากเปิดให้นำเข้าจากภายนอกได้เกษตรกรไทยก็จะปลูกไม่ทันเขา ทำให้เสียประโยชน์ทางเศรษฐกิจไทย” ภก.สัญชัย กล่าว

 

ภก.สัญชัย กล่าวว่า ผู้ที่ขออนุญาตปลูกพืชกัญชง ก็สามารถขออนุญาตผลิตสกัดช่อดอกที่มีสาร CBD ได้ แต่ต้องมีสาร THC น้อยกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ โดย อย. ก็ได้เปิดกฎหมายในการนำสารสกัดจากเมล็ดกัญชงมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ในรูปแบบ Hemp seed oil หรือใส่ในอาหารได้ แต่หากสกัดมาแล้ว มีสาร THC มากกว่า 0.2 จะต้องมีการขออนุญาตผลิตยาเสพติดแบบสกัดอีก 1 ใบตามกฎหมายยาเสพติด กล่าวในบทสรุปคือกัญชง ก็ยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่ การปลูกต้องได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image