อนุทิน หาวิธีฉีดวัคซีนโควิด-19 เล็ง 1ขวด 12โดส เซฟ 2 พันล้าน! หมอยงหนุนใช้เทคนิค Z

อนุทินหาวิธีฉีดวัคซีนโควิด-19 เล็ง 1ขวด 12โดส เซฟ 2 พันล้าน! หมอยงหนุนใช้เทคนิค Z

วันนี้ (11 มีนาคม 2564) แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ล่าสุดกลุ่มไลน์ผู้บริหาร สธ.ได้พูดคุยกันเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่จะฉีดให้กับประชาชน โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้เริ่มตั้งคำถามถึงปริมาณของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่บรรจุ 1 ขวด ขนาด 6.5 มิลลิลิตร ขนาดโดสที่ใช้ คือ 0.5 มิลลิลิตร สำหรับฉีด 10 คน แต่จะมีวัคซีนเหลือ 1.5 มิลลิลิตร หรือเท่ากับ 3 โดส ซึ่งหากทำการฉีดอย่างพิถีพิถัน ก็จะทำให้วัคซีน 1 ขวด เพียงพอสำหรับ 11-12 คน

โดยรัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้คำนวณวัคซีนส่วนที่เกินมา 1.5 มิลลิลิตร คิดเป็นร้อยละ 30 ที่เพิ่มขึ้นมา ดังนั้น ล็อตแรกที่ส่งมาถึงประเทศไทย 117,300 โดส สำหรับ 58,000 คน หากใช้แบบคุ้มค่าทุกมิลลิลิตรในขวด ก็จะได้เพิ่มมาอีก 26,979 โดส ครอบคลุมอีก 13,000 คน ซึ่งหากคำนวณวัคซีนแอสตร้าฯ ล็อตใหญ่ 63 ล้านโดส ใช้บรรจุภัณฑ์เดียวกัน จะทำให้มีจำนวนวัคซีนเพิ่มอีกกว่า 10 ล้านโดส และหากรวมวัคซีนที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะนำมาคืนให้อีกกว่า 4 ล้านโดส ก็จะทำให้มีวัคซีนครอบคลุมประชาชน ที่ยกเว้นในกลุ่มอายุน้อยกว่า 18 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีข้อบ่งชี้ห้ามฉีดวัคซีน ได้เกือบครบถ้วนสำหรับประชากรที่เหลือ

ทั้งนี้ นายอนุทิน ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า วัคซีนที่สั่งไปคิดแบบกลมๆ 60 ล้านโดส คือ 6 ล้านขวด หาก 1 ขวดฉีดได้ 12 คน

“ก็เท่ากับเราฉีดได้ 72 ล้านโดส คือ 36 ล้านคน เพิ่มมาได้อีก 6 ล้านคนฟรีๆ ถ้าประสิทธิภาพเราสูง 12 ล้านโดส คูณด้วย 5 เหรียญต่อโดส เป็นเงิน 60 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 2,000 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณประเทศมหาศาล เราต้องสุมหัวกันทำเรื่องนี้ให้สำเร็จให้ได้มากที่สุด เป็นเรื่องคุ้มค่าในการคิดหาวิธีทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” นายอนุทิน ระบุ

Advertisement

วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้า ว่า วัคซีนของแอสตร้าฯ จะเริ่มฉีดในไทยพรุ่งนี้ (12 มีนาคม 2564) วัคซีนเป็นแบบขวด ขวดละ 10 โดส (multiple dose) แต่ละโดสใช้ 0.5 มิลลิลิตร โดยแต่ละขวดจะบรรจุวัคซีนเกินมาโดยบรรจุประมาณ 6.5 มิลลิลิตร โดยส่วนที่เหลือ ถ้าดูดได้ สามารถมาใช้กับคนต่อไป หรือเอามารวมกันให้ครบโดส และให้คนต่อไปได้ เช่นเดียวกับ mRNA วัคซีนในอเมริกา ก็ยอมรับเอาส่วนที่เหลือมารวมให้กับคนต่อไปได้ ในกรณีวัคซีนขวดละหลายโดส การเตรียมฉีดจะต้องระวังเรื่องความสะอาด ดูดใช้หลายคนในเวลาเดียวกันจะดีที่สุด เพราะถ้าเหลือเก็บและทิ้งไว้นาน กลัวจะปนเปื้อนเชื้อโรค

“ประสบกาณ์ผมกับวัคซีน การดูดมา 0.5 มิลลิลิตร หรือให้วัคซีนที่ใช้กับเด็ก เราดูดจากขวด และลดการสูญเสียของยาที่เหลือติดหลอด (dead space) เราสามารถทำได้ โดยให้มีฟองอากาศเล็กน้อย แล้วไล่อากาศชนิดให้ฟองอากาศลอยอยู่บนหลอด syringe และเวลาฉีดที่แขน ให้ผู้ถูกฉีดมือเท้าสะเอว และการปักเข็ม จะมีฟองอากาศลอยอยู่บนและดันยาจนหมด ให้ฟองอากาศไปแทนที่ใน dead space ก็จะได้ยาหมดตามจำนวนแน่นอน ไม่เหลือติดเข็ม การทำดังกล่าวต้องอาศัยความชำนาญ”

ศ.นพ.ยง ระบุว่า ส่วนเวลาดึงเข็มออก บางครั้งจะมีน้ำยาไหลตามรูที่ฉีดออกมา วิธีการป้องกันคือ ฉีดแบบ Z เทคนิค คือใช้นิ้วข้างหนึ่ง

Advertisement

“โดยมากผมจะใช้นิ้วหัวแม่มือของข้างซ้ายดันผิวหนังให้เคลื่อนลงมา เพียงใช้นิ้วชี้เกาะไว้เฉยๆ แล้วเมื่อดึงเข็มออก ปล่อยหัวแม่มือ ผิวหนังที่ถูกดึงให้เลื่อนออกมา จะเลื่อนไปปิดรูที่ฉีด (เราฉีดเข้ากล้าม) ผิวหนังเคลื่อนที่ได้อยู่แล้ว จะเคลื่อนไปปิดตำแหน่งรูที่กล้ามเนื้อเอง ทั้งนี้ ในการฉีดวัคซีนไม่มีความจำเป็นต้องดึงหลอดฉีดยาหรือทดสอบว่าเข้าเส้นเลือดหรือไม่ (ไม่ต้อง draw back) เมื่อเข็มปักเข้ากล้ามเนื้อแล้ว เดินยาได้เลย เพียงสังเกตที่หัว syringe ทุกครั้งว่ามีเลือดย้อนมาที่หัว syringe หรือไม่ก็พอ เพราะตำแหน่งที่เราฉีดไม่มีเส้นเลือดใหญ่อยู่แล้ว” ศ.นพ.ยง ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image