สธ. ชะลอฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไม่ฟันธงเดนมาร์กดับ 1 รายหลังฉีด ชี้คนละล็อตกับไทย

สธ. ชะลอฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ยังไม่ฟันธงเหตุเดนมาร์กดับ 1 รายหลังฉีดวัคซีน ยันคนละล็อตกับไทย

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงานการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมด้วย ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาคกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสถานการณ์โควิด-19 แถลงข่าวภายหลังยกเลิกการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเซเนก้า

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เมื่อวานนี้(11 มี.ค.) เวลา 18.29 น. มีการรายงานข้อมูลจากประเทศเดนมาร์ก ออสเตรีย รวมถึงประเทศในทวีปยุโรป ที่มีการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า มากกว่าล้านโดส พบผลข้างเคียงที่ทำให้เลือดแข็งตัวในหลอดเลือดดำและมีผลไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ส่งผลให้ประเทศเดนมาร์ก ประกาศชะลอการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไป 2 สัปดาห์ เพื่อสืบค้นข้อมูลว่าผลข้างเคียงดังกล่าวที่เกิดขึ้นในเดนมาร์กและออสเตรีย เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ทั้งนี้ ทำให้คณะแพทย์และทีมงานฉีดวัคซีนต้องนำมาพิจารณา

“การฉีดวัคซีนให้ประชาชน ทางทีมแพทย์ และ สธ. หวังอย่างเดียวว่า วัคซีนต้องปลอดภัยที่สุด ฉะนั้นเมื่อมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เราไม่จำเป็นต้องรีบฉีด แม้ว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จะมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพที่ดี แต่เมื่อมีผู้บอกให้ชะลอ เราก็ควรที่จะรอฟังผลนั้น เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เราก็ต้องขอชะลอไว้ รอผลสืบค้นจากเดนมาร์กและหน่วยงานในยุโรป ที่อาจารย์ประสิทธิ์ได้ไปศึกษา เพื่อประเมินสถานการณ์ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากแอสตร้าเซนเนก้า ส่งวัคซีนล็อตการผลิต ABV5300 จำนวน 1 ล้านโดส กระจาย 17 ประเทศในสหภาพยุโรป เมื่อมีการทยอยฉีด พบว่า ประเทศเดนมาร์ก มีผู้ป่วย 1 ราย เสียชีวิตและขณะเดียวกันมีผู้ป่วยหลายราย เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดต่างๆ ทางรัฐบาลเดนมาร์กจึงประกาศชะลอการให้วัคซีนออกไป 2 สัปดาห์ แม้ว่ายังไม่แน่ใจว่ามีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ แต่โดยทั่วไปตามหลักความปลอดภัยก็จะชะลอ เพื่อไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ประเทศไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ ก็ประกาศระงับการใช้ โดยยืนยันว่ายังไม่พบเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ประกาศเพื่อความปลอดภัย เพื่อติดตามผลการสืบสวนจากประเทศเดนมาร์กและดูผลการสืบค้าจากองค์กร European Medicines Agency หรือ EMA

Advertisement

“เมื่อวานนี้(12 มี.ค.) อีเอ็มเอ ออกมาประกาศว่า ไม่ได้ให้หยุดการใช้วัคซีน และยืนยันว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ปลอดภัย แต่เมื่อมีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะลงไปสืบค้นเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอีกครั้ง ย้ำว่าอีเอ็มเอ ไม่ได้เป็นผู้ประกาศให้หยุดการใช้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่าและว่า นอกจากนี้ประเทศเอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก และลัตเวีย ที่ใช้วัคซีนล็อตการผลิต ABV5300 เดียวกันก็ประกาศรอการยืนยันจากอีเอ็มเออีกครั้ง ตนขอย้ำว่า ประเทศไทยไม่ได้ใช้ล็อตการผลิตดังกล่าว” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า ส่วนกรณีเกาหลีใต้ที่ฉีดวัคซีนแล้วพบเสียชีวิตรายงานสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลเกาหลียืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็กลับมาฉีดใหม่

ด้าน ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การฉีดวัคซีนจำนวนมาก ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรืออาการอื่นๆ ได้ จะต้องพิสูจน์ว่าภาวะนั้นหรืออาการนั้นเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ อย่างที่ทราบในข่าวว่ามีการชะลอการใช้ไปก่อนหลังพบว่ามีการเกิดลิ่มเลือดประเด็นนี้ตนขออธิบายว่า โรคนี้เวลาเราขึ้นเครื่องบินจะมีคำแนะนำว่า ให้ขยับให้ดื่มน้ำเยอะๆบางคนบอกให้กินแอสไพรินก่อนหรือไม่เพราะถ้านั่งนานๆ หรือนอนนานๆโอกาสที่เลือดจะแข็งตัวในหลอดเลือดดำ ก็ย่อมมีโอกาสหลุดไปอุดในปอด เลือดจะกลับเข้าปอดไม่ได้ โดยเฉพาะหากเป็นก้อนใหญ่ๆ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ซึ่งอุบัติการณ์นี้มักพบมากในคนเชื้อชาติแอฟริกัน และยุโรป มากกว่าเอเชีย โดยคนยุโรปจะพบมากกว่าเอเชีย 3 เท่า เราเชื่อว่า ปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องกับโรคนี้ และโรคนี้พบได้ในยามปกติ

Advertisement

“การฉีดวัคซีนในหมู่มาก ซึ่งกรณีนี้ฉีดไปแล้ว 3 ล้านโดส พบผู้ป่วยมีการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ 22 รายในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งใน 3 ล้านโดสพบ 22 ราย เมื่อเปรียบเทียบอุบัติการณ์อยู่ที่ 7 ใน 1 ล้านราย ซึ่งแน่นอนเรื่องนี้จะต้องมีการสอบสวนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการเกิดขึ้นในภาวะปกติ ในคนธรรมดาที่ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็เกิดขึ้นได้หรือไม่ และมีจำนวนเท่ากันหรือไม่ ถ้าบอกว่าฉีดวัคซีนแล้วเกิดมากกว่าในภาวะปกติก็ต้องไปหาสาเหตุว่า วัคซีนทำให้เกิดอะไรถึงทำให้ลิ่มเลือดแข็งตัวได้ง่าย ก็ต้องมีการสอบสวน” ศ.นพ.ยง กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ใช้ในยุโรปและที่ใช้ในประเทศไทยคนละแบบแน่นอนและไม่ได้ผลิตในโรงงานในเอเชีย และประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเสี่ยงสูง ดังนั้นการชะลอการฉีดวัคซีนออกไปสัก 5 วัน 7 วันหรือ 2 อาทิตย์ก็ไม่ได้เกิดผลกระทบ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยคณะกรรมการทั้งหมดจึงเห็นสมควรให้ชะลอการฉีดวัคซีนออกไปก่อนไม่ใช่การยุติการฉีดวัคซีน

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก (โรคติดเชื้อ) รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์กล่าวว่า วัคซีนเมื่อมีการฉีดจำนวนมากก็เป็นธรรมดา ที่จะมีการรายงานเกี่ยวกับผลการใช้และอาการข้างเคียงเข้ามาไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการฉีดวัคซีนในปริมาณมากและในเวลาอันรวดเร็ว จะมีโอกาสที่จะไปฉีดในเวลาใกล้เคียงกับโรคบางโรคเดิมที่กำลังก่อตัวก็เป็นได้ เราจึงจำเป็นต้องระมัดระวังไม่ว่ามีเหตุการณ์อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นใกล้เคียงการฉีดวัคซีน ก็จะต้องมีการสอบสวนก่อนจัดฟันธงออกมาว่าเป็นผลจากวัคซีนจริงหรือไม่

“จังหวะนี้เป็นจังหวะที่เรากำลังจะมีการใช้วัคซีน และเมื่อมีรายงานนี้มาก็ถือว่า เป็นเรื่องดีชะลอไปนิดหน่อยไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่จากการฟังรายงานที่เกิดขึ้น คณะผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไม่น่าเกี่ยวกับวัคซีน อย่างภาวะการแข็งตัวของเลือดนั้น ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เป็นผลข้างเคียงจากวัคซีนที่เราเคยพบมา ไม่ว่าจะวัคซีนใดๆ ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image