เปิดปฏิบัติการ ‘คืนปูสู่สาคร’ แพทย์ชมต้นทุนสุขภาพดีมาก ลูกสาวผู้ว่าฯเล่าความพยายามส่งกำลังใจ

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ และทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว “คืนปู สู่สมุทรสาคร” ถอดบทเรียนการรักษาอาการของผู้ว่าฯวีระศักดิ์ ก่อนพาท่านผู้ว่าฯเดินทางกลับบ้านที่ จ.อ่างทอง

น.ส.วีราพร วิจิตร์แสงศรี ลูกสาวผู้ว่าการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า โควิด-19 เป็นโรคที่ค่อนข้างจะโดดเดี่ยวมาก ทางครอบครัวเจอเรื่องที่ค่อนข้างหนักหนา เพราะทั้งคุณพ่อและคุณแม่ติดโควิดทั้งคู่ ช่วงแรกคุณพ่อมาที่โรงพยาบาลคนเดียว ส่วนคุณแม่ต้องกักตัวที่บ้าน ไม่ได้เจอกันเช่นเดียวกัน

น.ส.วีราพรกล่าวว่า ที่ผ่านมาในช่วงแรกสิ่งที่ทางครอบครัวทุกคนเป็นห่วงคือกำลังใจของคุณพ่อและคุณแม่ ในส่วนของคุณแม่เรายังรู้เรื่องราวจากคนรอบข้าง ส่วนคุณพ่อ เราได้รับรู้จากข่าวไม่สามารถติดต่อท่านได้ ทราบว่าคุณพ่อมีอุปสรรคในการรักษามากเหมือนกัน คือเรื่องของการรับรู้เรื่องต่างๆ รอบตัว ทำให้การรักษาของทีมแพทย์ค่อนข้างยากลำบาก ครอบครัวพยายามหาทางส่งกำลังใจผ่านช่องทางต่างๆ

น.ส.วีราพรกล่าวต่อว่า ตนพยายามมาที่โรงพยาบาลศิริราชทุกวันเพื่อสอบถามอาการ และเขียนโน้ตเอาไว้ให้คุณพ่อไม่ว่าท่านจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามก็จะเขียนไว้ จนกระทั่งกลางเดือน ม.ค.ที่คุณพ่อเริ่มตื่นมารับรู้ได้บ้าง นางพยาบาลเริ่มอ่านโน้ตให้คุณพ่อฟัง ก็ดูเหมือนว่าจะช่วยได้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ จึงให้อัดเสียงเข้าไปเปิดให้ฟังซึ่งเป็นวันที่ครบรอบแต่งงงานคุณพ่อ คุณแม่จึงโทรหา และส่งเสียงคุณแม่ไปให้ เราทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อตอบสนองต่อการรักษา

Advertisement

อ่านข่าว : ผู้ว่าสมุทรสาครฯ กลับบ้านพร้อมวัคซีนเข็มแรก เผย 42 วันที่ไร้ความรู้สึก เป็นตายเท่ากัน ขอบคุณทุกกำลังใจ

ด้าน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากผู้ว่าฯติดเชื้อโควิด-19 ทีม รพ.ศิริราช และ รพ.สมุทรสาคร ประเมินร่วมกันและมีความเห็นว่าอาการไม่น่าไว้วางใจ จึงเคลื่อนย้ายท่านมาดูแลที่ รพ.ศิริราช ในห้องไอซียูผู้ป่วยโควิด-19 โดยในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกดูเหมือนอาการปอดอักเสบของท่านดีขึ้น แต่เมื่ออยู่ไปได้ 2 วันก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และยืดเยื้อมาราว 2-3 สัปดาห์ พอเข้าปลายสัปดาห์ที่ 3 ขึ้นต้นสัปดาห์ที่ 4 เราย้อนดูบทเรียนของผู้ป่วยวิกฤตที่ รพ.ศิริราช และทั่วประเทศไทย พบว่า ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ในการใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่ในกรณีผู้ว่าฯลากยาวมา 3 สัปดาห์กว่า ทั้งที่การรักษาโรคโควิด-19 ดีขึ้นแล้ว

Advertisement

รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า จึงมีการตั้งคณะกรรมการแพทย์ มองให้รอบด้าน สุดท้ายจึงตัดสินใจว่าท่านผู้ว่าฯใช้เครื่องช่วยหายใจมานาน เพื่อให้การดูแลรักษาง่ายและคล่องตัวลดภาวะแทรกซ้อน จึงปรึกษาทางครอบครัวพิจารณาย้ายท่อช่วยหายใจจากปากมาที่คอด้วยการเจาะคอ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นเราก็ทำการตรวจสิ่งสืบพิเศษต่างๆ เพื่อยืนยันว่าปอดอักเสบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ทุเลาแล้ว แต่ที่เราตั้งสมมุติฐานกันว่าเป็นปฏิกิริยาของร่างกายจากไวรัส ไปกระตุ้นทำให้เกิดปอดอักเสบอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ แต่เป็นปอดอักเสบจากภูมิต้านทานในร่างกาย เราจึงตัดสินใจให้ยาระงับการอักเสบ ซึ่งค่อยๆ ได้ผลชัดเจนในที่สุด ก็สามารถปลอดภัยในเรื่องของระบบการหายใจ

“รวมเวลาที่อยู่ในไอซียูโควิด-19 จำนวน 42 วัน และย้ายท่านมาอยู่ที่หออภิบาลทางเดินหายใจเตรียมการเปลี่ยนผ่าน แม้พ้นวิกฤตมาแล้วแต่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ เราจึงมาเตรียมการฟื้นฟูให้ท่านกลับมาหายใจด้วยตนเอง และเตรียมพร้อมร่างกายด้านอื่น ทั้งด้านการรับประทานอาหาร การพูด การเคลื่อนไหว

“ช่วงแรกเป็นห่วงเรื่องสมองว่าจะกลับมาได้มากแค่ไหน แต่ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่หออภิบาลการหายใจ การฟื้นตัวต่างๆ เร็วมาก เราสามารถเอาท่อช่วยหายใจออกได้ เอาสายให้อาหารออกได้ เอาท่อเจาะคอออกได้ ท่านพูดได้


“วันแรกที่ท่านพูด ทุกคนก็ดีใจ รวมถึงทานอาหารเองทางปาก เหลือเพียงการฟื้นฟูด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนด้านสมองท่านฟื้นกลับมาจำเหตุการณ์ได้ ออกความเห็น มีส่วนร่วมในการพูดจาพูดคุยกับคนอื่นได้ โดยช่วง 24 วันหลังเราย้ายท่านมาในห้องพิเศษ และมาถึงในวันนี้ที่พวกเรารอคอยกัน”
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวอีกว่า ตนคิดว่ากรณีความสำเร็จของการดูแลท่านผู้ว่าฯส่วนหนึ่งมาจาก ด้านที่ 1 สภาวะสุขภาพส่วนตัวของท่าน เนื่องจากเป็นคนวัยเกษียณ แต่มีต้นทุนสุขภาพที่ดี มีความแข็งแรงมาก ผ่านระยะวิกฤตที่ใส่ท่อช่วยหายใจ 42 วันได้ ถ้าเป็นคนทั่วไปก็เรียกว่าลากเลือด แต่ท่านก็ผ่านมาได้

รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า ด้านที่ 2 ทีมแพทย์ ที่เราใช้จากทุกฝ่ายของโรงพยาบาล ทุ่มเทเอาใจใส่ดูแลรักษาท่านจนฟื้นตัว ด้านที่ 3 คือเรื่องของการสนับสนุนจากครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูกสาว รวมถึงกำลังใจจากทางบ้านหลายๆ ส่วน ซึ่งทำให้หนุนช่วยเรื่องการฟื้นตัว

“ผมต้องยกย่องในความมุ่งมั่นของท่าน หลังจากช่วงวิกฤตมาแล้วการฟื้นตัวสำคัญ และอีกด้านคือความมุ่งมั่นในตัวของผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นกลับขึ้นมา ทั้งสภาพร่างกายและการใช้งานสมอง ทำให้เราเห็นประจักษ์กันในวันนี้ที่ท่านเดินลงจากรถ เดินเข้ามาด้วยตัวเอง อาจจะช้า เคลื่อนไหวไม่คล่อง แต่วันนี้เราก็ได้คืนปูสู่สมุทรสาครแล้ว” รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image