ศศก.ร่วม สสส. แจงคุณ-โทษกัญชา หมอเผยพบคนไข้เข้าบำบัดอาการหลอนเพิ่ม

ศศก.ร่วม สสส. แจงคุณ-โทษกัญชา หมอเผยพบคนไข้เข้าบำบัดอาการหลอนเพิ่ม

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีวิชาการ หัวข้อ “กัญชา 360 องศา หมุนรอบตัว ล้อมรั้วให้ปลอดภัย”

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า หลังจากมีกฎหมายปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชง อาจทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมตามมา ทั้งด้านบวกและด้านลบ จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจทำให้เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปมองไม่เห็นโทษที่ยังมีอยู่ของสารโดยเฉพาะช่อดอกและเมล็ดกัญชา

“ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชน เพราะยังมียาเสพติดจำนวนมากที่ถูกลักลอบเข้าประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาบ้าและไอซ์ จึงมีแนวโน้มที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาของสารเสพติดเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคล หน่วยงานในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันดำเนินงานทั้งด้านการปราบปราม การป้องกัน การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการป้องกันการเสพติดซ้ำ” น.ส.รุ่งอรุณ กล่าว

นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า จากการสำรวจล่าสุด พบว่าผู้ป่วยที่เข้ามารับการบำบัดจากกัญชาพบมากที่สุด และมีอาการทางจิตรุนแรงพอสมควร เพราะผู้ที่สูบกัญชากว่าจะแสดงอาการรุนแรงใช้ระยะเวลานานกว่ายาบ้า หรือไอซ์ จึงเข้าสู่กระบวนการบำบัดช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะเป็นอาการหลอน หลงผิด และหวาดระแวงกลัวผู้อื่นทำร้าย

Advertisement

“สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการอนุญาตเสพกัญชาเพื่อสันทนาการ แต่กลับพบว่า กัญชาหาซื้อได้ตามแหล่งโซเชียล และแหล่งที่ผู้เสพรู้เองว่าจะหาได้อย่างไร แม้รัฐบาลจะเร่งจับกุมก็ตาม ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้คนหันมาติดยาเสพติดได้ยาก คือ การสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ครอบครัวและสถานศึกษา หากมีความเข้มแข็งจะเข้าสู่วงจรนี้ได้ยาก ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายอนุญาตให้นำบางส่วนของกัญชามาใช้เพื่อทางการแพทย์เท่านั้น คนที่ฟังข่าวอาจจะเข้าข้างตัวเองว่าสามารถสูบได้เพื่อสันทนาการ” นพ.ล่ำซำ กล่าว

ขณะที่ รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการ ศศก. กล่าวว่า ขณะนี้กระแสการกินกัญชาและนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารเริ่มมีมากขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น จึงอยากทำความเข้าใจว่า การนำกัญชามาเป็นส่วนผสมปรุงในอาหารจะออกฤทธิ์ช้ากว่าการสูบ เนื่องจากปริมาณที่ให้อนุญาตมีส่วนสารมึนเมาน้อย กว่าจะออกฤทธิ์ใช้เวลานาน ทำให้ผู้ที่บริโภคในครั้งแรกบางครั้งไม่ได้รู้สึกถึงความเคลิ้มเคลิ้ม หรือความสุขอย่างที่คิด จึงบริโภคซ้ำไปอีกต่อเนื่อง เมื่อสะสมเรื่อยๆ จะกลายเป็นรับประทานในปริมาณมากเกินไป

“ดังนั้นก่อนที่จะรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา ควรต้องรู้ว่าร้านดังกล่าวได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ นำกัญชามาจากที่ใด เพราะแต่ละสายพันธุ์มีสารเมาไม่เท่ากัน รวมถึงกระบวนการปรุงอาหารแต่ละอย่างอาจทำให้สารเมาออกมาไม่เท่ากัน” รศ.พญ.รัศมน กล่าวและว่า สิ่งที่ต้องระวังคือ กลุ่มเปาะบาง เช่น เยาวชน และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากต้องการใช้ควรปรึกษาแพทย์ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ส่วนการสูบกัญชา แน่นอนว่ากฏหมายยังไม่ได้อนุญาต แต่ต้องยอมรับว่ามีการสูบมานานแบบผิดกฎหมาย ซึ่งการสูบออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่หากสูบผิดวิธีอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image