สธ.ซัดคนตั้งแง่วัคซีน ชี้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ทำกระทบความเชื่อมั่น คุมโรคยากขึ้น

สธ.ซัดคนตั้งแง่วัคซีน ชี้ข้อมูลคลาดเคลื่อน ทำกระทบความเชื่อมั่น คุมโรคยากขึ้น

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองโรคและภัยสุขภาพ กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ของประเทศไทย ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีน 2 บริษัท คือ ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้า โดยข้อมูลระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – วันที่ 30 มีนาคม ได้ทำการกระจายวัคซีนซิโนแวคแล้ว 190,720 โดส ใน 13 จังหวัด ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าอีก 85,880 โดส กรณีที่มีผู้กล่าวว่าวัคซีนค้างในคลังเป็นล้านโดส จึงไม่เป็นความจริง เพราะ สธ.ได้กระจายวัคซีนออกไปแล้ว ขณะเดียวกัน ข้อมูลการฉีดวัคซีน ทยอยฉีดแล้ว 180,477 โดส แบ่งเป็น ผู้ได้รับเข็มที่ 1 จำนวน 151,413 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 29,064 ราย

“แผนการจัดหาวัคซีนทาง สธ.ได้นำมาเรียนหลายครั้ง แต่เชื่อว่าเวลาพูดเร็วๆ บางท่านอาจจะตามไม่ทัน เดิมทีเราพูดถึงวัคซีนของแอสตร้าฯ แต่ด้วยดำริของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ทำให้มีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเพิ่มเติม 2 ล้านโดส ฉะนั้น ในการฉีดเราตอนนี้ก็มากกว่า 1.5 แสนโดส ดังนั้นที่บอกว่าค้างในคลังล้านโดส ก็ไม่เป็นความจริง ซึ่งวัคซีนอีก 8 แสนโดสที่เพิ่งเข้ามา เราก็เพิ่งมีการกระจายออกไปตามแผน ทั้งนี้ เรามีความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน แต่มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมฉีดจำนวนน้อย ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมประชากร 60 กว่าล้านคนในปลายปี ต้องเรียนว่า หากดูแผนอย่างละเอียดจะพบว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่วัคซีนกำลังทยอยมา โดยเราก็ฉีดได้ตามเป้า ซึ่งจะมีวัคซีนล็อตที่ใหญ่กว่านี้เข้ามาก็เชื่อมั่นว่าจะฉีดได้ตามเป้าต่อไป” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ส่วนที่มีความไม่แน่ใจว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ตามเป้าหมายได้อย่างไร เดือนละ 10 ล้านโดส ขอเรียนว่าในระยะที่ 1 ช่วง 3 เดือน ช่วง มีนาคม-พฤษภาคม จำนวน 2 ล้านโดส และระยะที่ 2 ช่วง 7 เดือน มิถุนายน-ธันวาคม จำนวน 61 ล้านโดส นั้น จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลรัฐและเอกชนประมาณ 1,000 แห่ง หากฉีดแห่งละ 500 โดสต่อวัน จำนวน 20 วันต่อเดือน ก็จะฉีดได้เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน เพราะฉะนั้นการคิดคำนวณนี้ เป็นความมั่นใจว่าจะให้บริการได้ตามเป้าหมาย และถ้าปลอดภัยสูงมั่นใจดี การขยายไปบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก็เป็นอีกวิธีการอันที่จะเพิ่มจุดบริการให้ประชาชนมีความสะดวกในการเข้ารับบริการไม่ต้องเดินทางไกล

“การคิดแผนของวัคซีนจะมีรายละเอียด ไม่ได้นั่งคิด มโนไป เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบัน เมื่อถูกเผยแพร่ไปก็จะส่งผลในเชิงลบ ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัญหาต่อการควบคุมการระบาดของโรคอย่างมาก เพราะวัคซีนเป็นเครื่องมือที่แต่ละประเทศรอคอย พยายามหาวิธีจัดหามาให้ได้ โดยประเทศส่วนใหญ่ที่มีวัคซีนในขณะนี้เกิดจากการเจรจาที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นทั้งสิ้น” นพ.เฉวตสรร กล่าวและว่า บริษัทแม่ของแอสตร้าฯ เองก็ให้ความชื่นชมคุณภาพการผลิตวัคซีนของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่เป็นไปตามมาตรฐานของบริษัทตามกระบวนการผลิต นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศในการรับมือโควิด-19 พร้อมเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อสู้กับโรคติดต่อในอนาคต

Advertisement

อย่างไรก็ตาม นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า สรุปสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทย ส่วนใหญ่พบติดเชื้อใน จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จากการตรวจคัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และเฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาดและชุมชนใกล้เคียง ชุมชนแรงงานต่างด้าว โรงงาน สถานประกอบการ ผับ บาร์ ส่วนการพบบุคลากรในสถานที่กักกันทางเลือกติดเชื้อเชื่อมโยงกับผู้เดินทางเข้าประเทศ เน้นย้ำการกำกับติดตาม การปฏิบัติงานขงุคลากรของโรงแรม และ รพ.คู่ปฏิบัติการ ตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะการใส่และถอดชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) การเก็บขยะ และงดคลุกคลีกันของบุคลากรอย่างเคร่งครัด เพิ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19ให้กับบุคลากรด้านหน้าของสถานที่กักกันและตรวจหาเชื้อเป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image