กรมอุทยานฯ ป.ป.ช.ตรวจสอบน.ส.3 ก. 459 ไร่ ออกกลางหุบเขาในอช.ไทรโยค

กรมอุทยานฯ ป.ป.ช.ตรวจสอบน.ส.3 ก. 459 ไร่ ออกกลางหุบเขาในอช.ไทรโยค เตรียมฟันอดีตปลัดอำเภอ-อดีตที่ดินอำเภอ กับพวก

วันที่ 8 เมษายน 2564 นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ตามนโยบายทส.ยกกำลัง2+4 ของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในปี พ.ศ.2564 ให้ปฎิบัติงานหนักขึ้นเป็นสองเท่าในการช่วยเหลือราษฎรทุกมิติทุกด้าน และให้ปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า หรือครอบครองที่ดิน ของนายทุน ที่ไม่ชอบโดยกฎหมาย อย่างเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ตนเอง และ นายหิรัณย์เศรษฐ เหยี่ยวประยูร ผู้อำนวยการสำนักไต่สวน คดีทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป.ป.ช. นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค คณะเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค รวม 15 นาย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) ทะเบียนเลขที่ 51 ถึง 58 จำนวน 8 ฉบับ รวมเนื้อที่ 459 ไร่ 39 ตารางวา ที่อยู่กลางหุบเขา ติดแม่น้ำแควน้อย ปลูกทุเรียนพันธุ์ดี หลายพันต้น ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค บริเวณบ้านหาดงิ้ว หมู่ที่ 5 ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีตัวแทนของเจ้าของที่ดินดังกล่าวเป็นผู้นำตรวจ

คณะเจ้าหน้าที่ฯได้ใช้ เครื่องพิกัด GPS ที่มีเสาอากาศ รับสัญญาณดาวเทียม ความละเอียดสูง จับ ค่าพิกัดรอบแปลงของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ดังกล่าว เพื่อตรวจสอบพื้นที่ ดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย ในการเตรียมชี้มูลเอาความผิด ตามปอ.157 กับอดีตปลัดอำเภอไทรโยค และอดีตเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอไทรโยค และผู้สนับสนุนที่เกี่ยวข้องในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) 8 ฉบับดังกล่าว ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี

Advertisement

นายนิพนธ์ ฯเปิดเผยต่อไปว่า มูลเหตุในการตรวจสอบ พื้นที่ดังกล่าวครั้งสุดท้าย เพื่อเตรียมชี้มูลความผิดในครั้งนี้เกิดจากในปี พ.ศ.2554 และในปี พ.ศ.2557 อุทยานแห่งชาติไทรโยค ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องถึงที่มาของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 8 ฉบับจำนวน 459 ไร่ 39 ตารางวา ดังกล่าว ว่าสามารถออกในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยคได้อย่างไร เนื่องจากอยู่หุบเขากลางป่า ติดแม่น้ำแควน้อย แต่ไม่สามารถตรวจสอบที่มาหลักฐานการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จากสารบบที่ดินได้ เนื่องจากอำเภอไทรโยค ได้ถูกเพลิงไหม้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2534 ทำให้เอกสารสารบบที่ดินทั้งหมด ถูกเพลิงไหม้เสียหายไปด้วย

แต่เมื่อตรวจสอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 8 ฉบับ ที่จัดสร้างขึ้นใหม่ แทนฉบับเดิม ที่ถูกเพลิงเผาไหม้เสียหายหมดนั้น ตามประกาศ จังหวัดกาญจนบุรี ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2534 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบที่ดินเพื่อจัดสร้างขึ้นใหม่แทนฉบับเดิม ได้แต่งตั้งกรรมการประกอบไปด้วย ปลัดอำเภอ ป่าไม้อำเภอ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ดินอำเภอ ออกไปตรวจสอบ ที่ดิน ที่ราษฎร ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ได้ไปยื่นความจำนง เพื่อจัดสร้างหลักฐาน เกี่ยวกับที่ดินขึ้นใหม่ แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการตามคำสั่งอำเภอไทรโยค ที่ 81/ 2534 ลงวันที่ 2 เมษายน 2534 ประกอบไปด้วย นายวิสูตร วระทรัพย์ ปลัดอําเภอไทรโยคผู้รับผิดชอบตำบล นายประยูร ใสเงิน เจ้าหน้าที่บริหารที่ดินอำเภอไทรโยค เพียงสองนาย เป็นผู้รับรองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 8 ฉบับดังกล่าว จำนวน 459 ไร่ 58 ตาราวาไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะมนตรี และเขตหวงห้ามที่ดิน เพื่อใช้ในราชการทหาร ตามพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2481

จากการตรวจสอบของอุทยานแห่งชาติไทรโยคพบว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.)ทั้ง 8 ฉบับ รวมจำนวน 459 ไร่ 39 ตารางวานั้น อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ.2523 อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าวังใหญ่ และป่าแม่น้ำน้อย ประกาศในปีพ.ศ. 2512 แล้วอยู่ในเขตป่าถาวร ตามมติคณะมนตรีใน ปีพ.ศ.2516 แล้วเมื่อตรวจสอบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง ก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ 1 ธันวาคม 2497 ก็ไม่พบร่องรอย การเข้าทำประโยชน์แต่อย่างใด เป็นป่าเบญจพรรณทั้งแปลง

Advertisement

คณะเจ้าหน้าที่ฯ เห็นว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 8 ฉบับ ดังกล่าว เป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายขัดกับ ระเบียบว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ 2498 ข้อ 3 ( 1 )ที่ดินที่จะจัดให้ ประชาชนอยู่อาศัย หรือประกอบการทำมหาลิชีพ จะต้องเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่ง ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ดิน ซึ่งมิได้มีบุคคลใดได้มีสิทธิครอบครองและมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือมิใช่ที่สงวนหวงห้ามหรือไม่ใช่ที่เขาที่ภูเขา ขัดกับ กฎกระทรวงฉบับที่ 2 ออกตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ 2497 ข้อ 3 ที่ดินที่ออกให้ต้องเป็นที่ดินที่ได้ทำประโยชน์แล้ว ขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 5 ออกตามประมวลกฎหมายที่ดินข้อ 8 (2) ห้ามออกโฉนด หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในที่เขา ที่ภูเขาหรือที่สงวนหวงห้าม หรือที่ดินซึ่งราชการเห็นว่าควรสงวนไว้เพื่อทรัพยากรธรรมชาติ ขัดกับระเบียบของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติฉบับที่ 2 พ.ศ.2515 ข้อ 7 (2) ข้อ 9 (1)การออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต้องไม่อยู่ในเขต ที่ได้ทางราชการจำแนกไว้เป็นเขตป่าถาวร

ในปี พ.ศ.2562 อุทยานแห่งชาติไทรโยคจึงได้เข้าแจ้งความดำเนินคดี กับเจ้าของที่ดินดังกล่าว ในข้อหาบุกรุก ยึดถือครอบครอง ที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยคโดยไม่รับอนุญาต ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และส่งเรื่อง ให้ป.ป.ช ดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายอาญาฐานละเว้นหรือปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ต่อนายวิสูตรฯอดีตปลัดอําเภอไทรโยค และนายประยูรฯอดีตเจ้าหน้าที่บริหารที่ดินอำเภอไทรโยค และบุคคลอื่นที่มีส่วนร่วมสนับสนุนเกี่ยวข้องในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) โดยมิชอบ

ในวันดังกล่าวคณะเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. จึงได้มาตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเตรียมดำเนินการชี้มูลเอาความผิดกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และเตรียมชี้มูลให้กรมที่ดินเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) จำนวน 8 ฉบับ เนื้อที่รวม 459ไร่ 39 ตารางวา ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค

เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าว ตกเป็นสมบัติของแผ่นดิน เพื่อประชาชนของคนไทยทุกๆคน หลังจากกรมที่ดิน เพิกถอนหนังสือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) จำนวน 8 ฉบับดังกล่าวแล้วอุทยานแห่งชาติไทรโยคจะนำมาฟื้นฟูสภาพป่า กลับคืนมา ตามสภาพธรรมชาติดังเดิมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image