ไทยป่วยโควิดพุ่งวันละเฉียดพันราย หมอห่วงพันธุ์ ‘บราซิล-แอฟริกา’ แพร่

ไทยป่วยโควิดพุ่งวันละเฉียดพันราย หมอห่วงพันธุ์ ‘บราซิล-แอฟริกา’ แพร่

เมื่อวันที่ 12 เมษายน เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 967 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 530 ราย ผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุก 434 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 3 ราย รวมสะสม 32,625 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 29,427 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,198 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 28,214 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 4,314 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 97 ราย ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในการระบาดรอบใหม่เมษายน สะสม 3,762 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 2,192 ราย การคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 1,469 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 101 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 3 ราย

ผู้ติดเชื้อตามพื้นที่และปัจจัยเสี่ยงในการระบาดระลอกใหม่เมษายน 1.สถานบันเทิง พบในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 161 ราย ปริมณฑล 45 ราย และจังหวัดอื่นๆ 311 ราย, 2.ตลาด ชุมชน ขนส่ง พบใน กทม. 2 ราย ปริมณฑล 1 ราย และจังหวัดอื่นๆ 28 ราย, 3.ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ พบใน กทม. 64 ราย ปริมณฑล 59 ราย และจังหวัดอื่นๆ 134 ราย, 4.อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค พบใน กทม. 9 ราย ปริมณฑล 8 ราย และจังหวัดอื่นๆ 145 ราย สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อรวม 136,002,033 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 703,555 ราย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประสิทธิภาพวัคซีนในการป้องกันโควิด-19 จะแบ่งดังนี้ ในการป้องกันโรคทำให้เกิดอาการน้อยถึงปานกลาง และป้องกันการนอนโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิต จะพบว่าไม่ว่าวัคซีนที่ใช้ในยุโรป อเมริกา หรือไทย ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้าก็ป้องกัน 100% แม้อเมริกันจะฉีดของโมเดอร์นา หรือไฟเซอร์ แต่ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันเลย จึงขอให้มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย

ADVERTISMENT

“การป้องกันไวรัสกลายพันธุ์นั้น ไวรัสตัวนี้เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส มีการกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการของเขา และการกลายพันธุ์ก็จะทำให้ติดง่าย ติดยาก ความรุนแรงของโรคเปลี่ยนหรือไม่ ความคงอยู่เป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพของวัคซีนต่อไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษ หรือ B117 นั้น จะพบว่าวัคซีนแอสตร้าฯในการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์หรือไม่กลายพันธุ์ไม่แตกต่างกันเลย ไม่ว่าวัคซีนหลายๆ ตัวก็ไม่แตกต่างกัน เพราะการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ในตำแหน่งส่วนที่จับกับพื้นผิวของเซลล์เรา หรือที่เรียกว่า ACD2 ตำแหน่งนี้เมื่อจับง่าย ไวรัสตัวนี้จึงแพร่พันธุ์ง่าย การเพิ่มจำนวนได้ง่าย ปริมาณไวรัสค่อนข้างเยอะ การกระจายโรคได้เร็ว” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สายพันธุ์ที่อาจมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนหนีไม่พ้นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์บราซิล เพราะ 2 สายพันธุ์นี้พบว่าการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโน เกิดเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะตำแหน่ง 484 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดกับวัคซีนเกาะและจับได้น้อยลง จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ก็ยังป้องกันได้ สิ่งต้องระวังคือไม่อยากเห็นสายพันธุ์กลายพันธุ์เข้ามาในบ้านเรา แม้จะทำเต็มที่ แต่ก็ยังมีหลุดสายพันธุ์อังกฤษจนได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่การ์ดตก และเมื่อมีวัคซีนและสามารถเคลียร์สายพันธุ์พื้นบ้าน สายพันธุ์อังกฤษ ต่อไปเราก็จะตรวจสอบได้ว่ามีสายพันธุ์หลุดรอดมาหรือไม่ และจะสามารถกำจัดและทำให้หมดไปได้

ADVERTISMENT

“ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 700 ล้านโดส ถามว่าพอหรือยัง แน่นอนว่ายัง เพราะประชากรทั่วโลกมีมากกว่า 7 พันล้านโลก การจะให้ครบจริงๆ ต้องฉีดให้ได้มากกว่า 1 หมื่นล้านโดส หรือครอบคลุมให้ได้ 5 พันล้านคน ดังนั้น ขณะนี้ทั่วโลกฉีดได้ประมาณ 15 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการฉีด ต้องใช้เวลาถึง 650 วัน หรือ 2 ปี ถึงจะฉีดจนถึงเป้าหมาย แต่ขณะนี้มีแนวโน้มทั่วโลกกำลังเร่งการฉีดเพิ่มเป็นวันละ 30 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 325 หรือประมาณ 1 ปีจะถึงเป้าหมาย” ศ.นพ.ยงกล่าว และว่า

ดังนั้น ทุกอย่างมีความเสี่ยงหมด การฉีดวัคซีนมีอาการแทรกซ้อนมีได้ แต่โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดต่างๆ เมื่อถามว่า มีการยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่อุบัติการณ์ในการเกิดน้อยมาก และส่วนใหญ่เกิดในคนอายุน้อยกว่า 55 ปี เป็นเพศหญิงที่อาจรับประทานยาเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน อังกฤษเขาจึงมองว่า ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนมากมาย และการนำวัคซีนมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน ประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยงจากวัคซีน ดังนั้น ในระดับหมู่มาก หากต้องการควบคุมโรคนี้ให้ได้ และต้องการลดอัตราการเสียชีวิต ลดการนอนใน รพ. เพราะการไปอยู่ รพ.มาก จะกระทบกับผู้ป่วยปกติ สรุปคือวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน แม้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ประโยชน์ย่อมมากกว่าความเสี่ยงมากมาย และเราต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า อาการแสดงของผู้ป่วยในลักษณะตาแดง เป็นผื่น น้ำมูกหรือมีไข้ จะมีความผันแปรในแต่ละคน ยกตัวอย่างในผู้ป่วย 1 รายที่พบในวันแรกๆ มีอาการตาแดง มีขี้ตามาก แต่ไม่มีไข้ แต่ในบางรายอาการก็อาจจะมาพร้อมกันได้ ในทางคลินิกวิทยาอาการของผู้ป่วยที่แสดงออกมา จะไม่ได้เหมือนกันในทุกๆ ราย และก็ไม่สามารถระบุได้ว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 1, 2 หรือ 3 หลังรับเชื้อมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอให้อาการเหล่านี้เป็นอาการพึงสังเกต เป็นสัญญาณเตือน โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเสี่ยง เช่นการเข้าไปในสถานบันเทิง หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ แล้วเริ่มมีอาการเหล่านี้ขึ้นมา อาการใดอาการหนึ่ง เช่น ขี้ตามาก ตาแดง เป็นผื่น มีน้ำมูก ก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า วันนี้ (11 เมษายน) ป่วยเพิ่ม 967 ราย การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดแล้วกว่า 5 แสนโดส เป็นเข็มแรก 485,957 ราย ครบ 2 เข็ม 69,439 รายเมื่อเทียบกับหลายประเทศเรายังควบคุมโรคได้ดี เพราะหลายประเทศเพียงวันเดียวยอดติดเชื้อก็เกินยอดสะสมของเราแล้ว แต่เพื่อให้เราปลอดภัยมากขึ้น จะควบคุมให้ผู้ติดเชื้อในประเทศไม่เกินขีดความสามารถการรักษาพยาบาล เพื่อลดการเสียชีวิต ตอนนี้อัตราป่วยตายเรา 0.3% น้อยกว่าทั่วโลก 7-8 เท่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการติดเชื้อแล้ว 70 จังหวัด เชื่อมโยงจากสถานบันเทิง จากข้อมูล กทม.รายงานติดเชื้อสะสม 1,114 ราย เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 823 ราย และค้นหาเชิงรุกในชุมชน 234 ราย จ.เชียงใหม่เริ่มจากผู้ติดเชื้อ 9 รายแรกที่นำเชื้อมาสู่สถานบันเทิงเชียงใหม่และทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างเร็วมาก

นพ.โสภณ กล่าวว่า กองระบาดวิทยาและสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ทำแบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยในระยะ 1 เดือนข้างหน้า เปรียบเทียบ 5 สถานการณ์ไม่มีมาตรการและมีมาตรการเพิ่มขึ้น พบว่า 1.หากไม่มีมาตรการใดๆ เลยปล่อยให้การติดเชื้อเป็นไปโดยธรรมชาติ ผู้ติดเชื้อต่ำสุด 1,308 รายต่อวัน สูงสุด 28,678 รายต่อวัน เฉลี่ย 9,140 รายต่อวัน 2.กรณีมีมาตรการปิดสถานบันเทิง 41 จังหวัด ต่ำสุด 817 รายต่อวัน สูงสุด 7,244 รายต่อวัน เฉลี่ย 2,996 รายต่อวัน ลดลง 32.8%

3.ปิดสถานบันเทิงและเพิ่มมาตรการส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือ สแกนไทยชนะ ติดเชื้อต่ำสุด 476 รายต่อวัน สูงสุด 1,589 รายต่อวัน เฉลี่ย 934 รายต่อวัน การติดเชื้อลดลงอีก 10.2% 4.กรณีปิดสถานบันเทิง มีมาตรการส่วนบุคคล และลดกิจกรรมการรวมตัว หรือจัดงานปลอดภัยมากขึ้น จำกัดคนเข้าร่วม ผู้ติดเชื้อต่ำสุด 378 รายต่อวัน สูงสุด 857 รายต่อวัน เฉลี่ย 593 รายต่อวัน ลดลงอีก 6.5% และ 5.กรณีปิดสถานบันเทิง มีมาตรการส่วนบุคคล ลดกิจกรรมรวมตัว และเพิ่มมาตรการองค์กรหลังสงกรานต์ เช่น ทำงานที่บ้าน การแพร่เชื้อก็จะลดลงอีก โดยติดเชื้อต่ำสุด 303 รายต่อวัน สูงสุด 483 รายต่อวัน เฉลี่ย 391 รายต่อวัน ลดลงอีก 4.3%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image