สธ.จัดฮอสปิเทลกว่า 4,900 เตียง ย้ำ! คลินิก-รพ.เอกชน ตรวจพบโควิด-19 ต้องดูแล

สธ.จัดฮอสปิเทลกว่า 4,900 เตียง ย้ำ! คลินิก-รพ.เอกชน ตรวจพบโควิด-19 ต้องดูแล

เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า คณะกรรมการจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีการประชุมกันทุกวัน เพื่อเตรียมโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด สธ. สังกัดกองทัพ รพ.มหาวิทยาลัย และ รพ.เอกชน

“ขณะนี้มีเตียงรองรับ 6,525 เตียง ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 3,700 กว่าเตียง อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งเก็บไว้สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สำหรับการจัดหาฮอสปิเทล (Hospitel) หรือการจัดหาโรงแรมที่ไม่มีผู้พักอาศัยมาทำเป็น รพ.ชั่วคราว เพื่อใช้ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแพทย์ พยาบาล อัตรา 20 คนต่อผู้ป่วย 1 เตียง มีเครื่องมือที่สำคัญ เช่น ปรอทวัดอุณหภูมิดิจิทัล เครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ โดยการดูแลจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไม่มีอาการ แต่ระหว่างนี้หากมีอาการก็จะส่งไปรักษาใน รพ.พี่เลี้ยง กลุ่มที่ 2 กลุ่มมีอาการที่อยู่ในรพ. 3-5 วัน แล้วอาการไม่ได้แย่ลง อาการปกติก็สามารถย้ายมาอยู่ที่ฮอสปิเทลต่อไป” อธิบดี สบส.กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้มีฮอสปิเทลแล้ว 23 แห่ง รวม 4,900 เตียง มีการครองเตียงแล้ว 2,000 เตียงแล้ว อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์การระบาดเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องจัดหาเตียงฮอสปิเทล และ รพ.สนาม เพิ่ม 5,000-7,000 เตียง ส่วนค่ารักษานั้นหากมีประกันสุขภาพ ก็ให้เบิกจากประกันสุขภาพส่วนบุคคล หากไม่มีประกันส่วนบุคคลก็จะได้รับสิทธิตามสิทธิในการรักษาพยาบาลภาครัฐ

นพ.ธเรศ กล่าวว่า การย้ายผู้ป่วยเข้ามาจะต้องถูกคัดกรองโดย รพ.หลัก ก่อน เช่น อายุไม่ควรเกิน 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ไม่ใช่เด็ก ไม่ใช่คนท้อง ไม่มีผลการเอกซเรย์ที่เปลี่ยนแปลง ก็จะสามารถย้ายมาที่ รพ.สนาม หรือฮอสปิเทลได้ เพราะฉะนั้นจะสกรีนผู้ป่วยที่มีความปลอดภัยสูงเข้า รพ.สนาม หรือ กรณีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยที่พบในหลักพันรายต่อวันนั้น ก็ยังมีการประเมินว่าเตียงที่จัดหานั้นอย่างเพียงพอต่อการรับมือ

Advertisement

อธิบดี สบส. กล่าวว่า ขณะนี้ สบส.ได้รับการแจ้งว่ามีคลินิกหลายแห่ง ที่ตรวจผู้ป่วยโควิดแล้ว ให้ผู้ป่วยไปหาเตียงเองทำให้เกิดความยากลำบาก และมีการเดินทางต่างๆ ดังนั้น สบส. จึงออกประกาศว่าคลินิกที่สามารถตรวจโควิด-19 ได้ ต้องได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเมื่อตรวจผลเป็นบวกจะต้องดูและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคติดต่อ ต้องดำเนินการจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วย หากไม่ดำเนินการตามนี้สถานพยาบาลหรือคลินิกแห่งนั้นจะมีโทษตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

“ขณะนี้ในเรื่องของการไม่ส่งต่อนั้น เราพบ รพ.ย่านบางนา จะต้องถูกลงโทษ และขณะนี้มีการพิจารณาที่จะลงโทษ รพ.เอกชน อีกประมาณ 2-3 แห่ง รวมถึงคลินิกเอกชนอีกจำนวนหนึ่งที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล” นพ.ธเรศ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ กำหนดว่าหากพบผู้ติดเชื้อ แล้วต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคทราบภายใน 3 ชั่วโมง คือ ผู้อยู่ร่วมบ้าน สถานพยาบาล ผู้ทำการวินิจฉัย หรือผู้ประกอบกิจการจะต้องแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบภายใน 3 ชั่วโมง หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

Advertisement

“ส่วนกรณีฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อ เช่น เจ้าพนักงานสั่งให้กักตัวที่บ้าน (Home quarantine) เพื่อรอเตียง หรือสั่งให้ไปรับการรักษาเพื่อลดการติดต่อสู่ผู้อื่น ก็จะมีความผิดโทษค่อนข้างแรงเพราะเสี่ยงที่จะแพร่กระจายของโรคจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท รวมถึงกรณีการปิดบังก็มีโทษเรื่องการให้ข้อมูลเท็จ เป็นโทษปรับ แต่ทั้งหมดนี้ขอฝากว่า หากเราช่วยกันให้ข้อมูลการควบคุมโรคติดต่อก็จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวเราและเพื่อนบ้านของเราก็จะปลอดภัย เพราะระบบสามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว และถ้าเราให้ความร่วมมือกันก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย” อธิบดี สบส. กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่มีกระแสว่ามี รพ.เอกชนมีการประชาสัมพันธ์ส่งข้อความถึงประชาชนให้ลงทะเบียนรับวัคซีนทางเลือกนั้น ต้องขอชี้แจงว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการแนวทางปฏิบัติ และวัคซีน หากมีการโฆษณาเชิญชวนก่อน จะเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง บางกรณีถ้าไปเรียกเงินมัดจำจากประชาชนด้วย เหมือนเอาเงินคนอื่นมาใช้โดยที่ยังไม่มีบริการ อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องดูข้อมูลให้ละเอียดด้วย เพราะขณะนี้มี รพ.เอกชนหลายแห่ง ที่เข้ามาช่วยเหลือรัฐในการฉีดวัคซีนฟรี

ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวสั้นๆ ถึงสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อซึ่งขณะนี้มีการเพิ่มขึ้นหลักพันราย ว่า ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องออกคำสั่งให้ผู้ติดเชื้อเฝ้าสังเกตอาการตัวเองอยู่ที่บ้าน

“ตอนนี้สถานพยาบาลของเรายังเพียงพอ ยืนยันว่านโยบายขณะนี้ให้ผู้ติดเชื้อทุกรายต้องเข้ามารับการดูแลในสถานพยาบาลที่รัฐจัดให้” ปลัด สธ.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image