ศบค.ขอ ปชช.อย่าชะล่าใจยอดติดโควิด-19 ลด ชี้สงกรานต์เป็นเหตุตัวเลขพุ่ง

ศบค.ขอ ปชช.อย่าชะล่าใจยอดติดโควิด-19 ลด ชี้สงกรานต์เป็นเหตุตัวเลขพุ่ง

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ประจำวัน ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า กราฟแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อพบว่า หลายวันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งขึ้นสูงในลักษณะยอดแหลม แต่วันนี้ (19 เมษายน 2564) หัวทิ่มลง เป็นไปตามที่ ศบค.ประกาศขอความร่วมมือประชาชนลดการเดินทาง จำกัดกิจการ/กิจกรรมต่างๆ ก็น่าจะเกิดความร่วมมือของประชาชนและสถานประกอบการ

“แต่เราต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะยอดที่เห็นอาจกลับพุ่งขึ้นได้ ขณะที่ผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองในชุมชนก็ยังพบอย่างต่อเนื่อง” พญ.อภิสมัย กล่าวและว่า เมื่อจำแนกผู้ติดเชื้อตามปัจจัยเสี่ยง พบว่า กรุงเทพมหานคร คลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ ติดเชื้อสะสม 1,529 ราย การติดเชื้อในชุมชน ตลาดและขนส่ง 184 ราย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ 1,902 ราย รวมสะสม 3,615 ราย จังหวัดในปริมณฑล คลัสเตอร์สถานบันเทิง 483 ราย การติดเชื้อในชุมชน ตลาดและขนส่ง 74 ราย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ 1,676 ราย รวมสะสม 2,233 ราย และจังหวัดอื่นๆ คลัสเตอร์สถานบันเทิง 2,529 ราย การติดเชื้อในชุมชน ตลาดและขนส่ง 357 ราย ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ 6,002 ราย รวมสะสม 8,888 ราย

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มักเกิดจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยันรายก่อนหน้านี้ รวมกลุ่มสังสรรค์ ไปจนถึงการประชุม สัมมนา โรงเรียน การสอบ การแข่งขันฟุตบอล งานเลี้ยงรุ่น งานบวช การร่วมรับประทานอาหาร เช่น หมูกระทะ ตรงนี้ทำให้กลายเป็นข้อกำหนดที่เรามุ่งเป้าที่กิจกรรม กิจการใดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเยอะ ก็นำมากำหนดเป็นมาตรการ

Advertisement

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรณี จ.สมุทรปราการ ที่พบการติดเชื้อในโรงเรียน เนื่องจากมีครูเดินทางไปร่วมกิจกรรมภูเก็ตเฟสติวัล และนำเชื้อมาติดกับนักเรียนร่วมในงานมุทิตาจิต ทำให้มีครู นักเรียน และผู้คนสัมผัส คนในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 ด้วย เป็นตัวอย่างที่เราติดตามและนำมาสู่มาตรการที่พุ่งเป้าไปยังสถานศึกษาหรือโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม พญ.อภิสมัย กล่าวว่า แผนที่ประเทศไทยรายสัปดาห์ พบว่าตั้งแต่เมื่อวันที่ 1-19 เมษายน มีผู้ติดเชื้อครบ 77 จังหวัด เริ่มต้นในช่วงแรกพบเพียง 14, 62 และ 76 จังหวัดตามลำดับ โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมื่อวันที่ 11-17 เมษายน มีการติดเชื้อหลายจังหวัด ทั้งนี้ เฉพาะในสัปดาห์ที่ 16 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18-19 เมษายน พบการติดเชื้อใน 75 จังหวัด

Advertisement

“แต่หากดูรายจังหวัดตามจำนวนผู้ติดเชื้อ พบว่า หลายจังหวัดเริ่มกลับมาเป็นสีเขียวมากขึ้น คือมีผู้ติดเชื้อประมาณ 1-10 ราย หมายความว่า จังหวัดมีมาตรการที่เข้มข้น ได้รับความร่วมมือ ทำให้เปลี่ยนจากจังหวัดสีเหลือง ที่มีผู้ติดเชื้อประมาณ 11-50 ราย กลายมาเป็นสีเขียวได้ รวมถึงบางจังหวัดก็ปลี่ยนจากสีแดง ที่พบผู้ติดเชื้อประมาณ 51-100 ราย กลับมาเป็นสีเหลืองมากขึ้น สถานการณ์เริ่มไปในทิศทางที่มียอดติดเชื้อในจังหวัดลดลง” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เหตุการณ์ตัวอย่างสำหรับระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 เป็นผู้ติดเชื้อใน จ.สระแก้ว อายุ 41 ปี มีประวัติไปเที่ยวสถานบันเทิงทองหล่อ ตั้งแต่ช่วงวันที่ 27 มีนาคม หลังจากนั้นก็เดินทางไปพบปะคนในหลายแห่ง เช่น ส่วนราชการ ร้านอาหาร ทำงานในร้านขายทอง พบปะเพื่อน สนามฟุตบอล สุดท้ายทำให้มีการติดเชื้อคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อใน จ.สระแก้ว รวม 26 ราย ซึ่งเป็นการติดเชื้อจากสถานบันเทิงและไปติดคนในครอบครัว ในพื้นที่อื่นๆ หรือในชุมชน ซึ่งเป็นที่มาของการออกข้อกำหนดฉบับที่ 20 ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image