อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยแผนจัดหาวัคซีนโควิด 35 ล้านโดส เพิ่มทางเลือกประชาชน

อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยแผนจัดหาวัคซีนโควิด 35 ล้านโดส เพิ่มทางเลือกประชาชน

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทยอีก 35 ล้านโดส ว่า ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ที่มี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ซึ่งมีภาครัฐ เอกชน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม สรุปว่าต้องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในแผ่นดินไทยมากขึ้นจากเดิมตั้งเป้า 70 ล้านโดส เพิ่มเป็น 100 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีนแล้วประมาณ 65 ล้านโดส

นพ.โอภาส กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนมาอีก 35 ล้านโดส มี 3 แนวทาง ดังนี้ 1.ให้ทางภาครัฐ โดย สธ. และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ไปเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งมีความก้าวหน้าหลายบริษัท 2.ทางภาคเอกชน โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยินดีบริจาคเงินให้รัฐบาลจัดซื้อ และฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย คือ คนในโรงงานอีก 10 ล้านโดส และ 3.โรงพยาบาล (รพ.) เอกชน จะขอจัดซื้อเอง โดยจะฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เช่น คนที่มีโรคประจำตัว และไปรักษาที่ รพ.เอกชน ก็จะเอาวัคซีนนี้ไปฉีด เป็นต้น

“โดยทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน คือ 1.ต้องมีระบบการดูแลเรื่องความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด 2.ต้องมีระบบรายงานที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การออกหนังสือการฉีดวัคซีน 3.ต้องมีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน ซึ่งภาคเอกชนก็เห็นพ้องต้องกัน อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 1 ล้านโดส ภาคเอกชนมาร่วมฉีดมาก อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือการฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน ก็ล้วนเป็นความร่วมมือที่ดีเพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนครบถ้วน” นพ.โอภาส กล่าวและว่า ขณะนี้เจรจาอยู่หลายเจ้า ซึ่งหลักพิจารณาคือจะได้วัคซีนเมื่อไร ราคาเท่าไร และต้องมีแผนการจัดส่งที่ชัดเจน รวมถึงการพิจารณาความครอบคลุมต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราไม่ได้ซื้อมามากๆ ทีเดียว เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

นพ.โอภาส กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กรณีที่ รพ.เอกชนไปเจรจาซื้อเองนั้น ต้องชี้แจงก่อนว่า เนื่องจากวัคซีนไม่ใช่สินค้าที่มีในท้องตลาด ดังนั้นต้องเจรจากับบริษัทผลิต ซึ่งเขาจะขายผ่านหน่วยงานรัฐ ดังนั้นหากภาคเอกชนไปเจรจามาได้ แล้วองค์การเภสัชกรรมก็จะเป็นผู้รับรองการซื้อให้ ยกเว้นว่าเอกชนจะมาขึ้นทะเบียนและนำเข้าเอง ก็ไม่ต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ แต่ที่ผ่านมาก็เห็นอยู่ว่าไม่มีใครมาขึ้นทะเบียน ส่วนเรื่องราคาที่จะคิดกับประชาชนที่มารับบริการฉีดที่รพ.เอกชนนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือเช่นกันว่าในยามนี้ไม่ควรจะเก็บจากประชาชนแพง ดังนั้นจึงมอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูแลเรื่องการกำหนดราคาวัคซีน ซึ่งตนไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะกำหนดเท่าไร หรือต้องมีเพดานราคาเท่าไร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image