หมอศิริราช ชี้ 9 ข้อระวัง! โควิดในไทย เชื้อกลายพันธุ์ ป่วยพุ่ง ขาดทรัพยากร

หมอศิริราช ชี้ 9 ข้อระวัง! โควิดในไทย เชื้อกลายพันธุ์ ป่วยหนัก ขาดทรัพยากร

เมื่อวันที่ 27 เมษายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทั่วโลก และการใช้วัคซีนป้องกันโรค ว่า ข้อมูลการกลายพันธุ์ของโควิด-19 จากสายพันธุ์เดิมในประเทศจีน ล่าสุดที่มีในขณะนี้ คือ สายพันธุ์ B.1.1.7 ระบาดในประเทศอังกฤษ หลักฐานพบว่า แพร่กระจายได้เร็ว

เดิมเคยพูดว่าไม่เพิ่มความรุนแรงของการติดเชื้อ แต่ตอนหลังมีรายงานว่า อาจจะมีส่วนทำให้บางประเทศเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งมีออกมาเพียง 1 รายงาน แต่จะต้องติดตามดูต่อไป โดยประเทศไทยมีสายพันธุ์นี้เข้ามาแล้ว การระบาดช่วงสงกรานต์ผ่านมามีเปอร์เซ็นต์จากสายพันธุ์นี้ค่อนข้างมาก“ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า ส่วนสายพันธุ์ B.1.351 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ แพร่พันธุ์ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ยังไม่ได้เพิ่มความรุนแรง โดยการศึกษาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับ ไฟเซอร์ ยังครอบคลุมสายพันธุ์นี้ได้ดี ต่อมาเป็นสายพันธุ์ P.1 สายพันธุ์บราซิล พบครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2564 ในประเทศญี่ปุ่น แพร่ระบาดได้เร็ว มีหลักฐานบางอย่างระบุว่าติดเชื้อซ้ำได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สายพันธุ์ B.1.427 และ B.1.429 พบที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีการตั้งข้อสงสัยว่า เกี่ยวข้องกับการระบาดที่มากขึ้นในช่วงหนึ่งของสหรัฐ และสายพันธุ์ B.1.617 สายพันธุ์อินเดีย ซึ่งเป็นดับเบิ้ลมิวเทนต์ (Double Mutant) โดยอินเดียพบการระบาด 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์นี้และสายพันธุ์อังกฤษ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาธรรมชาติของสายพันธุ์

Advertisement

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังกล่าวถึงข้อพึงระวังของประเทศไทย ว่า พบว่า 1.สายพันธุ์ที่กลายพันธุ์บางส่วนเข้ามาประเทศไทยแล้ว 2.ระลอกนี้มีผู้ป่วยหนักมากขึ้นชัดเจน ข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ามารักษาใน รพ.ศิริราช ประมาณ 1 ใน 4 เกิดอาการปอดอักเสบแล้ว จำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งทั่วประเทศก็พบผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มขึ้น ตัวเลขประมาณ 1 ใน 4 ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราเสียชีวิตมากขึ้น ในตัวเลข 2 หลัก

“โดยปีที่แล้ว เราไม่พบการเสียชีวิตในตัวเลขสองหลัก แต่คาดได้ว่าเมื่อเรามีผู้ป่วยหนักมากขึ้น เราจะเจอผู้เสียชีวิตในเลขสองหลักมากขึ้น 3.ผู้ป่วยอาการรุนแรงจนเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในคนอายุน้อยลง ฉะนั้นอย่าคิดว่าอายุไม่เยอะแล้วจะไม่เสียชีวิต เพราะข้อมูลที่ล่าสุดพบว่า คนอายุไม่เยอะแต่เสียชีวิตภายใน 7-10 วันเท่านั้น” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า 4.ต้องใช้หอผู้ป่วยวิกฤตมากขึ้น(ไอซียู) มากขึ้น เราพยายามขยายเตียงเพิ่มเต็มที่ แต่สิ่งสำคัญคือ บุคลากรที่เข้ามาดูแลไม่สามารถขยายได้ในเวลาอันสั้น แม้เราระดมแพทย์มาช่วยกัน แต่หากเราไม่ช่วยกันโอกาสเสียชีวิตก็มากขึ้น 5.ยาที่ต้องใช้ในผู้ป่วยรุนแรง คือ ยาฟาวิพิราเวียร์ เริ่มมีการแย่งยากัน เพราะต้องให้ยาเร็ว ทำให้การใช้ยาเพิ่มมากขึ้นในทั่วโลก ดังนั้น การจัดการยาในแต่ละประเทศไม่ง่ายแล้ว บางประเทศควบคุมการจ่ายยยา ไม่ส่งออกมาขายนอกประเทศ 6.ทรัพยากรไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยโควิด-19 จู่โจมระบบทางเดินหายใจ บางครั้งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดพิเศษ ซึ่งไม่ได้มีพร้อมใช้เสมอ ประเทศไทยมีเครื่องช่วยหายใจกระจายค่อนข้างดี แต่ในรายที่หนักก็ต้องใช้ชนิดพิเศษ ซึ่งเริ่มขาดแคลน

Advertisement

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า 7.การลักลอบข้ามแดน คนหนีตายจากประเทศตัวเอง ซึ่งอาจนำสายพันธุ์กลายพันธุ์เข้ามาในไทย โดยเฉพาะการเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ทำให้การสอบสวนโรคยาก รวมถึงมีการย้ายถิ่นฐานทำให้เชื้อกระจาย 8.วัคซีนคือเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับการแพร่ระบาด

“องค์การอนามัยโลกระบุว่า การฉีดวัคซีนจะเห็นผลเมื่อประชากรในประเทศได้รับอย่างน้อย ร้อยละ 25 ในเข็มแรก ขณะนี้ทั่วโลกฉีดแล้ว 1,009 ล้านโดส ยืนยันว่า วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองใช้ในภาวะฉุกเฉินไม่ว่าจะยี่ห้อใดก็มีความปลอดภัย ผลแทรกซ้อนของวัคซีนเกิดขึ้นใน 1 ในล้านล้านโดสที่มีการฉีด แต่เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 2.2 ราย ในผู้ป่วย 100 ราย และ 9.มาตรการป้องกันในความเสี่ยง 4 ประการคือ บุคคล สถานที่ กิจกรรมและช่วงเวลาเสี่ยง มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะช่วงเวลาเสี่ยงเช่นวันหยุดยาวจะส่งผลให้ความเสี่ยง 3 ประการแรก มีความน่ากลัวมากขึ้น ให้บทเรียนที่ผ่านมาเตือนทุกคนไม่ให้ทำซ้ำ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในขณะนี้โลกกลับเข้าสู่วิกฤตโควิด-19 อีกครั้ง จึงจะสบายไม่ได้ โอกาสที่สิ่งเหล่านั้นจะเข้ามาประเทศไทยก็ไม่ได้ลดลง มีแนวโน้มแต่จะมากขึ้น โดยยุทธศาสตร์ของประเทศไทย แบ่งเป็น ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ ซึ่งมีความสำคัญ คือ การลดการติดเชื้อใหม่ หากไม่ประสบความสำเร็จ ก็ทำให้ผู้ป่วยทะลัก รพ. จะส่งผลต่อยุทธศาสตร์ปลายน้ำ ในการจัดการผู้ป่วยใน รพ. ลดการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการหายกลับบ้าน ที่ต้องใช้บุคลากรด้านสุขภาพจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่รวมไปถึงนักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด ที่ต้องระดมช่วยกัน วันนี้เรากำลังจะเริ่มเจอเหตุการณ์ผู้ป่วยมากขึ้น แต่จะจำนวนจะมากหรือน้อยเป็นบทบาทหน้าที่ของคนไทยทุกคน ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งที่ทำให้อัตราติดเชื้อต้นทางลดลง หากคนไทยไม่ช่วยกัน ต้องอาศัยจิตสำนึก ความรับผิดชอบ วินัย ขอความกรุณาว่าเราจะช่วยกัน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า บทบาทของคนไทยแม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อไปสู่ผู้อื่น ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อหากสงสัยว่าติดเชื้อ หลายคนเข้าใจผิดไม่ไปตรวจ เพราะไม่มีอาการ แต่คนไม่มีอาการแต่มีเชื้ออยู่น่ากลัวเพราะจะแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ หากเกิดการติดเชื้อให้เข้ารักษาในสถานที่ที่กำหนด และเข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนด เพื่อตนเองและเพื่อประเทศ “ช่วยกันหยุดโควิด ไม่อยู่กันใกล้ชิด ร่วมใช้สิทธิฉีดวัคซีน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image