54 วัน ฉีด 16 ล.โดส ฉลุยหรือสะดุด?

54 วัน ฉีด 16 ล.โดส ฉลุยหรือสะดุด?

54 วัน คือ กรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 16 ล้านโดส ในระยะที่ 2 แก่ประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.7 ล้านคน ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคอีก 4.3 ล้านคน โดยจะเริ่มดีเดย์ฉีดระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน-31 กรกฎาคม 2564 ล่าสุด มีผู้ที่มาลงทะเบียนจองฉีดผ่านไลน์หมอพร้อม และแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมแล้วเกือบ 8 แสนคน ยังไม่นับรวมกลุ่มที่แจ้งลงทะเบียนจองฉีดกับโรงพยาบาลใกล้บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำตำบล การฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากเช่นนี้

จึงเกิดคำถามว่า สธ.จะมีศักยภาพทำได้ตามกรอบเวลาหรือไม่ เพราะหากคิดเฉลี่ยแล้วจะต้องระดมฉีดให้ได้วันละ 2.6 แสนโดส จึงจะครบ 16 ล้านโดส

จากข้อมูลของ สธ.นั้น สธ.ได้เตรียมความพร้อมสำหรับฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนทั่วประเทศแล้ว โดยมีหน่วยบริการฉีดวัคซีน 1,373 แห่ง ให้บริการฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 3 แสนคน หรือประมาณเดือนละ 10 ล้านคน และยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดหน่วยบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ตามเกณฑ์ปฏิบัติของกรมการแพทย์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การฉีดวัคซีนทั้งภายในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาลมีการจัดเตรียมสถานที่ในการฉีดวัคซีนไว้ 5 จุด ใช้เวลาประมาณ 1 นาทีต่อจุด เมื่อฉีดวัคซีนเสร็จต้องรอสังเกตอาการอีก 30 นาที โดยรวมใช้เวลาในการรับวัคซีนประมาณ 35-40 นาที ทำให้การฉีดวัคซีนมีความรวดเร็วและความปลอดภัย ดังนั้น จึงสามารถให้วัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปี และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค 16 ล้านคน เสร็จสิ้นได้ตามกำหนดอย่างแน่นอน

Advertisement

ส่วนการกระจายวัคซีนมีองค์การเภสัชกรรมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท DKSH ที่มีระบบเก็บรักษาอุณหภูมิที่ได้มาตรฐาน สามารถจัดส่งวัคซีนให้ทุกจังหวัดได้ภายใน 24 ชั่วโมงต่อรอบการขนส่ง อีกทั้งยังร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาระบบติดตามการกระจายวัคซีนที่สามารถตรวจสอบแหล่งเก็บวัคซีนและสถานการณ์ขนส่งวัคซีนได้แม่นยำ ช่วยควบคุมการกระจายวัคซีนได้อย่างเป็นระบบ

ปลัด สธ.กล่าว การระดมฉีดวัคซีนในระยะนี้และระยะต่อไปนั้น แต่ละจังหวัดต้องบริหารจัดการ เตรียมพร้อมทั้งสถานที่ บุคลากรทางการแพทย์ จ.เชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่พบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ 3 พันกว่าคน ทางจังหวัดได้เตรียมพร้อมระดมฉีดวัคซีนแล้ว นพ.วรัญญู จำนงประสาทพร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรในกลุ่มผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่และบุคคลที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค จำนวน 5.6 แสนคน จึงมีการประมาณการขั้นต่ำในการฉีดวัคซีนไว้ที่ 12,000 โดสต่อวัน มั่นใจว่าทันภายใน 54 วันแน่นอน เพราะเบื้องต้นเรามีโรงพยาบาลทุกแห่งให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เราประเมินไว้ 12,000 โรงพยาบาลขนาดเล็ก ก็เฉลี่ย 300 คนต่อวัน หรือ 400-500 โดสต่อวัน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็ 600-800 โดสต่อวัน เช่น ในเขตตัวเมืองก็จะมีหน่วยงานรัฐและเอกชนช่วยกัน เรามีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น โรงพยาบาลแม่และเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลประสาท เป็นต้น

นพ.วรัญญูบอกด้วยว่า กรณีที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเสนอตัวเข้ามาร่วมด้วยนั้น วันที่ 5 พฤษภาคม เราจะประชุมและหารือเรื่องเงื่อนไขกันอีกครั้ง แต่จะเป็นไปในทางที่เอกชนเข้ามาร่วมช่วยเป็นจุดฉีดวัคซีน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 5.6 แสนคนของประชากร ในแง่ของปัญหาแทบไม่มีเลย อาจจะเป็นกรณีที่ประชาชนไม่อยากฉีด หรือกลัววัคซีน แต่เรามีการเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ทั้งแอพพลิเคชั่น หมอพร้อม และมีเจ้าหน้าที่ช่วยลงทะเบียนให้กรณีที่ประชาชนไม่มีสมาร์ทโฟน หรือไม่มีสัญญาณ เจ้าหน้าที่ทุก รพ.สต. และเทศบาลพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ ไม่น่าห่วง

Advertisement

ด้าน นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น ในพื้นที่ 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา มียอดผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ราว 6 แสนคน และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค อยู่อีกราว 1 แสน 9 หมื่นคน รวมแล้วประมาณ 8 แสนคน ทางจังหวัดโดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ได้ประชุมหารือเตรียมแผนดำเนินการเอาไว้แล้ว เพื่อบริหารจัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในระยะที่ 2 ให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดยกำหนดสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เอาไว้ 5-6 จุด ในเขตเมืองนครราชสีมา เพราะมีปริมาณกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดราว 3 แสนคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา จะออกไปให้บริการ 3 จุด คือ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ โคราช และศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา โคราช ส่วน รพ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, รพ.ค่ายสุรนารี และ รพ.เทพรัตน์ จะดำเนินการกันเอง อีกจุดที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช จะมอบหมายให้ รพ.เอกชนไปดำเนินการฉีดให้กับประชาชน ขณะที่ต่างอำเภอได้ให้จัดเตรียมทีมและสถานที่ไว้รองรับแล้วเช่นกัน สำหรับจังหวัดสงขลาที่มีจำนวนผู้ที่จะต้องฉีดวัคซีนในระยะที่ 2 จำนวน 330,000 คน

นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา อธิบายถึงแผนการบริหารจัดการว่า มีการวางแนวทางในการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งและโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งร่วมบูรณาการในการฉีดวัคซีนและยังมีที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลในอำเภอหาดใหญ่ที่จะร่วมในการระดมฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยเบื้องต้นจะทำการฉีดวัคซีน วันละ 12,000 โดส ซึ่งได้มอบโควต้าให้กับโรงพยาบาลแต่ละแห่งทำการฉีดวัคซีนนำร่อง ในช่วงประมาณ 2 เดือน ตามนโยบายซึ่งหลังจากการฉีดวัคซีนใน 2 เดือนนี้แล้วเสร็จก็จะมีการฉีดวัคซีนในล็อตต่อไปในช่วงของเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ในอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่ง ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ทันตามกำหนดเวลาตามนโยบายของรัฐแน่นอน

การฉีดวัคซีนในระยะที่ 2 ครั้งนี้แม้ สธ.มีความมั่นใจว่าทันแน่นอน แต่ยังมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวแปร ทั้งเรื่องของบุคลากรในหลายจังหวัดติดโควิด และต้องโดนกักตัว ทำให้ขาดสรรพกำลังที่จะมาช่วยส่วนนี้ จำนวนวัคซีน ผลข้างเคียงของวัคซีน และอื่นๆ ทุกอย่างล้วนเรียกร้องให้รัฐบริหารจัดการ ต้องสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ณ เวลานี้

จึงยังต้องลุ้นว่าการระดมฉีดวัคซีนรอบนี้จะฉลุยหรือสะดุด แต่ขอเอาใจช่วยให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยความราบรื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image