จุฬาฯ ดึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วปท. อาสาช่วย สธ.กระจายฉีดวัคซีนโควิดเข้าถึงปชช.

จุฬาฯ ดึงเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วปท. อาสาช่วย สธ.กระจายฉีดวัคซีนโควิดเข้าถึงปชช.

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหารือ ร่วมกับ ตัวแทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงแนวทางการกระจายวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพื่อประชาชน ว่า คณะตัวแทนจากจุฬาฯ เข้ามาหารือร่วมกับ สธ. เพื่อจัดหาสถานที่บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตของจุฬาฯ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร โดย ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอช่วยภารกิจของ สธ. กระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากที่สุด อย่างน้อยนักศึกษา อาจารย์ ศิษย์เก่า และครอบครัว หรือแม้กระทั่งผู้ที่อาศัยอยู่ละแวกรอบมหาวิทยาลัย ก็จะได้รับการฉีดวัคซีน โดยเครือข่ายของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง

“รูปแบบการดำเนินการ คือ สธ.มีหน้าที่ส่งวัคซีนให้กับจุฬาฯ เพื่อทำการฉีดต่อไป ซึ่งเป็นความช่วยเหลือที่มีคุณค่ามาก และเป็นบุญคุณอย่างยิ่ง ในการช่วยลดภาระงานของ สธ.ได้มาก เพื่อที่เราจะได้ไปจัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มอื่นต่อไป” นายอนุทิน กล่าวและว่า การเริ่มต้นของจุฬาฯ จะเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานอื่นๆ นำวัคซีนไปฉีดบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ด้วย

Advertisement

ด้าน ศ.บัณฑิต กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 มีผลต่อการใช้ชีวิตของประชาชน จุฬาฯ จึงหารือกันเพื่อช่วยสังคม จึงเข้ามาหารือกับ สธ.ถึงแนวทางจัดตั้งหน่วยบริการฉีดวัคซีน ในรูปแบบบริการฉีดวัคซีนแบบ กลุ่ม (group vaccination) เริ่มต้นจากพื้นรอบเขตปทุมวัน เขตสาทร เพื่อนำวัคซีนไปหาประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนวิ่งไปหาวัคซีน

“จุฬาฯ มีความพร้อมทางด้านบุคลากร ทั้งสายวิทยาศาสตร์สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ เราก็ระดมกันมา และระบบตรวจติดตาม และระบบหลังบ้านที่จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ สธ. เช่น แอพพลิเคชั่นหมอพร้อม นอกจากนี้ ก็ยังขยายไปยังพันธมิตรของเรา ในมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน ในเขตกรุงเทพฯ ก่อน” ศ.บัณฑิต กล่าวและว่า คาดว่าหลังกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ที่จะมีการเปิดเทอม จะบริการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับครู อาจารย์ให้ได้อย่างรวดเร็ว เบื้องต้น จะจัดตั้ง 2 จุด คือ จามจุรีสแควร์ชั้น 4-5 และ ศูนย์บริการสุขภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารจามจุรี 9 คาดว่าแต่ละจุดจะฉีดได้วันละ 1,500 คน

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image