คลองเตย ทำความเข้าใจแนวทางป้องกันโควิด จ่ายบัตรคิวตามสัดส่วนผู้ติดเชื้อในชุมชน

คลองเตย ทำความเข้าใจแนวป้องกันโควิด จ่ายบัตรคิวตามสัดส่วนผู้ติดเชื้อในชุมชน

เวลา 17.00 น. วันที่ 7 พฤษภาคม นางสาวปิยธิดา นิยม ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งและเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป และพระพิศาลธรรมารุสิฐ เจ้าอาวาสวัดสะพาน ในฐานะประธานอำนวยการคณะกรรมการต่อต้านโควิด-19 ชุมชนคลองเตย ประชุมร่วมกับประธานชุมชน 39 ชุมชน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ รับฟังปัญหาและประเมินสถานการณ์ แนวทางการควบคุม และการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในชุมชนพื้นที่เขตคลองเตย ณ วัดสะพาน เขตคลองเตย

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ยังมีอย่างต่อเนื่องที่และแพร่กระจายออกเป็นวงกว้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเขตคลองเตย ซึ่งลักษณะทั่วไปของชุมชนที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นชุมชนแออัด มีประชากรอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น ที่พักอาศัยเป็นอาคารที่พักหลายชั้นและเป็นบ้านเรือนที่ติดกัน มีการใช้พื้นที่บางส่วนร่วมกัน การระบายอากาศไม่ดี ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ร่วมกับสถาบันและป้องกันโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่เสี่ยงดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เพื่อหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการ SWAB โดยนำรถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเข้าเก็บตัวอย่างกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.-7 พ.ค.64 ในหลายจุด อาทิ วัดสะพาน โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา ลานจอดรถตลาดคลองเตย โดมแฟลต 19-22 และชุมชน 70 ไร่ โดยค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 11,417 ราย ผลไม่ติดเชื้อ 5,598 ราย ติดเชื้อ 243 ราย รอผลการตรวจ 5,576 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 7 พ.ค.64) ส่วนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในชุมชนพื้นที่เขตคลองเตย ได้ตั้งจุดให้บริการฉีดวัคซีน จำนวน 2 จุด บริเวณโรงเรียนวัดคลองเตย และศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขาพระราม 4 โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 4-6 พ.ค.64 มีผู้รับบัตรคิว 5,495 ราย รับบริการฉีดวัคซีน รวมทั้งสิ้น 5,006 ราย ไม่ได้การฉีดเนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ 489 ราย โดยจะให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ชุมชนเขตคลองเตยอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค.64 เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำนวน 50,000 คน นอกจากนี้วัดสะพาน เขตคลองเตย ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอยรอส่งตัวผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างรอรับตัวส่งโรงพยาบาล ตามที่ได้รับอนุญาตจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งสำนักการแพทย์ กทม. โดยมีคณะกรรมการต่อต้านโควิด-19 ชุมชนคลองเตย (คตช.คลองเตย) ดูแลรับผิดชอบ โดยเปิดศูนย์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.64 ที่ผ่านมา จนกว่าสถานการณ์จะผ่อนคลาย หรือมีประกาศอื่นๆ เปลี่ยนแปลง

ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กล่าวว่า วันนี้เป็นประชุมชี้แจงทำความเข้าใจถึงแนวทางการควบคุมและการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ร่วมกับประธานชุมชน 39 ชุมชน และคณะกรรมการศูนย์อำนวยการคณะกรรมการต่อต้านโควิด-19 ชุมชนคลองเตย ซึ่งภารกิจดังกล่าวได้ดำเนินร่วมกันมาแล้ว 20 กว่าวัน อย่างไรก็ตามภารกิจบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ หรือมีภารกิจใหม่เพิ่มขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นการนำสิ่งของไปให้ชุมชน การรับส่งผู้ติดเชื้อในชุมชน ในส่วนของบัตรคิวในการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการ SWAB และการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนนั้น ที่ผ่านมาได้มีความเข้าใจกันคลาดเคลื่อน ซึ่งการให้บัตรคิวจะเป็นไปตามหลักวิชาการสาธารณสุข โดยจะพิจารณาจากจำนวนเปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อในชุมชน รวมถึงสัดส่วนของประชากรในชุมชน ทำให้ประธานชุมชนหลายชุมชนเกิดความไม่เข้าใจว่าขนาดของชุมชนใกล้เคียงกัน แต่ได้รับจำนวนบัตรคิวไม่เท่ากัน ซึ่งจากการประชุมในวันนี้จะทำให้ประธานชุมชนเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน อย่างไรก็ตามการจ่ายบัตรคิวนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนมาเข้ารับบริการในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความแออัดในการทำงาน โดยได้กำหนดช่วงเวลาเช้ารับบริการตามหมายเลขบัตรคิว เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับบริการและเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ส่วนในกรณีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ไม่ตรงกันนั้น เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่กรุงเทพมหานครรายงาน จะเป็นผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจ SWAB โดยนำรถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ตามจุดที่หน่วยงานสาธารณสุขกำหนดไว้ แต่มีผู้ติดเชื้อบางรายได้ไปตรวจกับทางโรงพยาบาลด้วยตนเอง เมื่อทราบผลตรวจก็จะแจ้งให้ทางประธานชุมชนทราบ จากนั้นในช่วงเวลา 08.00 น. ของทุกวัน ประธานชุมชนจะรายงานให้ทางสำนักงานเขตทราบ ซึ่งผู้ติดเชื้อบางรายต้องการให้กรุงเทพมหานครจัดหาโรงพยาบาลในการรักษาตัว ซึ่งทำให้จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจไม่ตรงกัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image