จิ๋วแต่แจ๋ว! อนุทินให้กำลังใจหมอโอภาส ขอทุกฝ่ายร่วมฝ่าวิกฤต เช็ก รพ.บุษราคัม พร้อมรับผู้ป่วยโควิด

จิ๋วแต่แจ๋ว! อนุทินให้กำลังใจหมอโอภาส ขอทุกฝ่ายร่วมฝ่าวิกฤต เช็ก รพ.บุษราคัม พร้อมรับผู้ป่วยโควิด

จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อในหลัก 1,500-2,000 รายเฉลี่ยต่อวัน หลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องของทรัพยากร การบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อที่อาจจะไม่เพียงพอ รวมถึงเวชภัณฑ์ยา และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มียอดผู้ลงทะเบียนในหมอพร้อมเพียง 1.5 ล้านคน จากเป้าหมาย 16 ล้านคนนั้น

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การระบาดส่วนใหญ่ยังพบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขณะนี้ สธ.ได้เข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหาตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งได้ทำอย่างเต็มที่เพื่อช่วยหน่วยงานหลักคลี่คลายปัญหา ทั้งนี้ สธ.โดยความร่วมมือจากทุกกรม จัดตั้งศูนย์แรกรับผู้ป่วยโควิด-19 และส่งต่อผู้ป่วยเพื่อช่วยกรุงเทพมหานคร (กทม.) แก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วย

“ต่อมาเมื่อมีรายงานปัญหาว่ามีผู้ป่วยแสดงอาการเพิ่มขึ้นจำนวนมากจนอาจกระทบกับระบบโรงพยาบาลปกติ สธ.จึงได้ตั้งโรงพยาบาล (รพ.) บุษราคัม ใช้อาคารอิมแพค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี เป็น รพ.สนามเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง รองรับเบื้องต้น 1,200 เตียง สามารถขยายได้ถึง 5,000 เตียง ใช้ความร่วมมือจากแพทย์จากทั่วประเทศ โดยจะไม่กระทบกับงานของหมอที่รักษาผู้ป่วยอยู่แล้ว จะรับผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลางเข้ามาดูแลที่นี่ เพื่อช่วยให้โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ รับผิดชอบผู้ป่วยอาการหนักโดยเฉพาะ” รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว

Advertisement

นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนเรื่องของยาฟาวิพิราเวียร์เป็นนโยบายแล้วว่าจะต้องสำรองใช้ไม่ขาด พร่องไปก็ต้องเอามาเติม และทางองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ก็เริ่มผลิตยานี้ในประเทศไทยได้แล้ว ขณะเดียวกัน ภายในเดือนนี้ประเทศไทยจะมีวัคซีนซิโนแวค รวม 3.5 ล้านโดส ผ่าน อภ.เป็นผู้นำเข้า และเดือนมิถุนายน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในล็อตใหญ่ก็จะทยอยนำมาฉีดให้ประชาชน

นายอนุทินกล่าวว่า ส่วนการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อมในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค นอกจากจะลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นแล้ว ก็ยังสามารถติดต่อได้เองที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นกำลังหลักในการขยายข่าวสารและสร้างความเข้าใจให้ประชาชนในหมู่บ้านด้วย ทั้งนี้ มติในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้ขยายการฉีดวัคซีนในประชากรวัยแรงงาน โดยมีสํานักงานประกันสังคม (สปส.) และจังหวัดเป็นผู้รวบรวมรายชื่อแรงงานที่จะรับวัคซีนส่งไปยัง สธ.เพื่อกระจายการฉีดวัคซีนต่อไป

Advertisement

“สิ่งที่สำคัญคือ บุคลากรสาธารณสุขทั้งที่ทำงานด่านหน้าที่เสียสละเวลาของตัวเองมาทำงานดูแลพี่น้องประชาชน โดยเราเร่งสร้างเกราะป้องกันให้คนทำงาน ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้บุคลากรสาธารณสุข สร้างความปลอดภัย ความมั่นใจให้คนทำงาน ส่วนบุคลากรเบื้องหลังที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์รายชั่วโมง ปรับแผนการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเต็มความสามารถ วันหยุดก็มาทำงาน ทุกเช้า 7 โมง ก็ประชุมอีโอซีทุกวันไม่มีวันหยุด ผมอยากให้ทุกคนร่วมกันให้กำลังใจทำคนงาน ผมและผู้บริหาร สธ.ทุกวันนี้ต่างให้กำลังใจกันและกัน โดยเฉพาะ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เห็นจิ๋วแบบนั้น แต่แจ๋วมาก ทำงานบนความกดดัน แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่บั่นทอนกำลังใจตัวเอง แต่ในหลายครั้งที่คุณหมอออกมาพูด อธิบายในข้อโต้แย้งต่างๆ ก็เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนอย่างถูกต้อง คุณหมอมีความหวังดี และเราต้องให้กำลังใจ ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน” นายอนุทินกล่าว และว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างเคร่งครัด ช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด

เวลา 13.00 น. วันเดียวกัน นายอนุทิน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สธ. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลงพื้นที่ รพ.บุษราคัม ตรวจเยี่ยมสถานที่ใช้รองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เพื่อให้ทุกคนอยู่ในการดูแลของแพทย์ลดการป่วยที่รุนแรงให้ได้มากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image