สธ.แจง รพ.บุษราคัม ใช้งบ 13 ล้าน เครื่องมือพร้อม เล็งปรับเป็น ‘ศูนย์ฉีดวัคซีน’

 

สธ.แจง รพ.บุษราคัม ใช้งบ 13 ล้าน เครื่องมือพร้อม เล็งปรับเป็น ‘ศูนย์ฉีดวัคซีน’

กรณีที่มีการนำภาพโรงพยาบาล (รพ.) สนามบางแห่งมาเปรียบเทียบกับ รพ.สนามที่จัดสร้างโดยเอกชน และวิพากษ์วิจารณ์ว่า รพ.สนามของภาครัฐใช้งบประมาณที่สูงเมื่อเทียบกับภาคเอกชน

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม แถลงข่าวประเด็นการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาล (รพ.) บุษราคัม

นพ.ธงชัยกล่าวว่า เป็นข้อมูลที่ถูกบิดเบือน ทั้งในเนื้อหาสาระและรูปภาพ โดยข้อเท็จจริงของ รพ.บุษราคัม เราต้องการสร้างเป็นโรงพยาบาล ไม่ใช่เป็นแค่ รพ.สนาม ที่เอาไว้ดูอาการของผู้ป่วย แต่เราสามารถรักษาผู้ป่วยได้ใน รพ.บุษราคัม ซึ่งงบประมาณที่ใช้ 13 ล้านบาทเศษ เพื่อปรับปรุงโครงสร้าง อาคารสถานที่ จัดทำฉากกั้นห้อง มีอุปกรณ์อาทิ ตั้งเครื่องออกซิเจนที่เตียงผู้ป่วย มีเครื่องออกซิเจนความดันสูงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก ห้องความดันลบดูแลผู้ป่วย รวมทั้งมีรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลพระราชทาน เพื่อตรวจหาภาวะปอดบวมในผู้ป่วย และทำการรักษาได้ภายใน รพ.บุษราคัม

Advertisement

“แต่หากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจริงๆ ก็มีระบบส่งต่อ แต่หากเป็น รพ.สนามทั่วไปก็จะใช้แค่สังเกตอาการ ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้มาก แต่สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลได้ แต่สำหรับ รพ.บุษราคัม เราสามารถดูแลผู้ป่วยได้ครบวงจร และยังสามารถรองรับผู้ป่วยหนัก ที่อาการดีขึ้นเข้ามารักษาใน รพ.บุษราคัม ได้ เช่น รพ.รามาฯ รพ.จุฬาฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพเตียงในโรงพยาบาล” นพ.ธงชัยกล่าว

นพ.ธงชัยกล่าวว่า ยืนยันว่า รพ.บุษราคัม เป็นโรงพยาบาลใช้งบประมาณ 13 ล้านเศษ ไม่ได้เป็นไปตามที่มีข่าวปลอมออกมา และทำให้ประชาชนเข้าใจผิด กระทรวงสาธารณสุขก็เสียหาย ขณะนี้เรากำลังให้กองกฎหมาย สำนักงานปลัด สธ. ตรวจสอบว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

นพ.ธงชัยกล่าวต่อว่า เบื้องต้นเจ้าของสถานที่สนับสนุนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 2 เดือน และเราก็ไม่อยากใช้ไปมากกว่านี้ จึงต้องเร่งความพยายามควบคุมสถานการณ์ของโรค ไม่อยากเห็นจำนวนเตียงที่เพิ่มมากขึ้น แต่วันนี้เราต้องทำทุกอย่างเพื่อรองรับความเสี่ยง และเรายืนยันว่าสถานการณ์จะต้องดีขึ้น ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น สธ.ตั้งเป้าใช้ รพ.บุษราคัม เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนในอนาคตด้วย

ด้าน นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า ทุกกรมใน สธ.ร่วมกับดูแลระบบของ รพ.บุษราคัม ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เช่น ระบบระบายน้ำเสีย กำจัดขยะติดเชื้อ ดูแลสภาพแวดล้อมไม่ให้กระทบชุมชนภายนอก สร้างระบบดูแลผู้ป่วยให้เป็นมาตรฐานของโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน บุคลากรที่ใช้ดูแลผู้ป่วยมาจากทั่วประเทศ 14 จังหวัด เป็นแพทย์ประมาณ 20 คน พยาบาล 130 คน และเภสัชกรประมาณ 10 คน ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดที่การระบาดมีความรุนแรงลดลง และโรงพยาบาลสังกัดโรงเรียนแพทย์ เช่น รพ.สงขลานครินทร์

นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า ผลการดำเนินงาน 4 วันที่ผ่านมา มีผู้ป่วยแล้ว 267 ราย เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง 61 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 โดยมีส่วนหนึ่งต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจน บางส่วนต้องได้รับการส่งต่อไป รพ.ใกล้เคียง เนื่องจากเริ่มกลายเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ซึ่งเรายังสามารถรองรับผู้ป่วยได้อีกประมาณ 800 กว่าเตียง

“เรื่องความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์ กรมอนามัยเข้าไปดูแล เจ้าหน้าที่ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวกับผู้ป่วยก็สามารถแต่งกายปกติ และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยืนยันว่าความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมไม่เป็นปัญหาและหลังจากใช้งานเสร็จก็จะทำความสะอาดตามระบบก่อนส่งคืน” นพ.กิตติศักดิ์กล่าว

เมื่อถามว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 จะเข้ารักษาใน รพ.บุษราคัม ได้อย่างไร นพ.กิตติศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้อยากให้เป็นการผ่านระบบสายด่วน 1669, 1669 ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ สามารถเข้าพักในฮอสปิเทล (Hospitel) ได้ แต่หากเกิดปัญหากับผู้ป่วยทางระบบก็จะส่งข้อมูลมาที่เราเพื่อเข้ารักษาใน รพ.บุษราคัม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image