รมว.สุชาติ รับลูกนายกฯ สั่งดูแลแรงงานไทยเสียชีวิต-บาดเจ็บจากเหตุระเบิดในอิสราเอล

รมว.สุชาติ รับลูกนายกฯ สั่งดูแลแรงงานไทยเสียชีวิต-บาดเจ็บจากเหตุระเบิดในอิสราเอล

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลและปาเลสไตน์ ซึ่งมีการโจมตีโดยกลุ่มฮามัสที่โมชาฟ โอฮัด (Ohad) ในเมืองเอชโคล (Eshkol) ซึ่งอยู่ห่างจากฉนวนกาซา 14 กิโลเมตร นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและห่วงใยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด และสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งลงพื้นที่แจ้งความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้ญาติพี่น้องและครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทราบในทันที จากรายงานของฝ่ายแรงงานฯ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ว่า ได้รับแจ้งข้อมูลจากนาย Eyal Siso (เอล ไซโซ) รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลว่า

จากการโจมตีด้วยจรวดโดยกลุ่มฮามัสที่โมชาฟ โอฮัด (Ohad) ในเมือง เอชโคล (Eshkol) ซึ่งอยู่ห่างจากฉนวนกาซา ประมาณ 14 กิโลเมตร เมื่อวันอังคารที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา เวลา 14.35 น. แรงระเบิดทำให้คนงานไทย เสียชีวิตจำนวน 2 ราย ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 7 ราย โดยแรงงานไทยที่เสียชีวิต 2 ราย ทราบชื่อคือ 1. นายวีรวัฒน์ การันบริรักษ์ อายุ 44 ปี มีภูมิลำเนา จ.เพชรบูรณ์ และ 2.นายสิขรินทร์ สงำรัมย์ อายุ 24 ปี มีภูมิลำเนา จ.บุรีรัมย์

แรงงานไทยได้รับบาดเจ็บสาหัสเข้ารับการผ่าตัดรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 ราย คือ นายอัตรชัย ธรรมแก้ว อายุ 28 ปี มีภูมิลำเนา จ.อุบลราชธานี และจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีได้รับบาดเจ็บอีก 7 ราย ดังนี้ 1.นายณรงค์ศักดิ์ รอดชมพู อายุ 32 ปี มีภูมิลำเนา จ.อุดรธานี 2.นายเชษฐา ผลาพรม อายุ 40 ปี มีภูมิลำเนา จ.อุดรธานี 3.นายธนดล ขันธชัย อายุ 26 ปี มีภูมิลำเนา จ.อุดรธานี 4.นายปรีชา แซ่ลี้ อายุ 32 ปี มีภูมิลำเนา จ.เชียงราย 5.นายสมศักดิ์ จันทร์ภักดี อายุ 26 ปี มีภูมิลำเนาเป็นคน จ.สุรินทร์ 6.นางสาวจรัสศรี กล้าแข็ง อายุ 39 ปี มีภูมิลำเนา จ.หนองคาย 7.นายจักรี รัตพลที อายุ 31 ปี มีภูมิลำเนา จ.หนองบัวลำภู

Advertisement

นายสุชาติ ยังกล่าวถึง ความช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะได้รับค่าตอบแทนจากสำนักงานประกันสังคมแห่งชาติของอิสราเอล (National Insurance Institute) กรณีบาดเจ็บหรือพิการ จะได้รับค่าทดแทน ดังนี้ 1.บาดเจ็บหรือพิการร้อยละ 0-10 ไม่ได้รับค่าทดแทน นอกจากค่าจ้างในช่วงที่ทำงานไม่ได้เพราะบาดเจ็บ บาดเจ็บหรือพิการ ร้อยละ 10-19 ได้รับเงินก้อนครั้งเดียว ไม่เกิน 150,000 เชคเกล (ประมาณ 1,500,000 บาท) บาดเจ็บหรือพิการ เกิน ร้อยละ 20 ขึ้นไป จะได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือนทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต โดยคำนวณจากเปอร์เซ็นต์สูญเสีย หาก 100% จะได้รับเดือนละประมาณ 6,000 เชคเกล (ประมาณ 60,000 บาท)

2.กรณีเสียชีวิต ภรรยาและบุตรของผู้เสียชีวิตทุกคนจะได้รับเงินช่วยเหลือทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ หรือลูกมีอายุครบ 18 ปี โดยภรรยาจะได้รับประมาณ ร้อยละ 60 ของ 6,000 เชคเกลทุกเดือน (ประมาณ 36,000 บาทบุตร จะได้รับประมาณ ร้อยละ 10-20 ของ 6,000 เชคเกลทุกเดือน (ประมาณ 6,000 – 12,000 บาท) ทั้งนี้ กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีได้รับบาดเจ็บประสบอันตรายในต่างประเทศ จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท กรณีสมาชิกเสียชีวิตในต่างประเทศจะได้เงินช่วยเหลือจำนวน 80,000 บาท แบ่งออกเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 40,000 บาท ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท

Advertisement

สำหรับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอลปัจจุบันประเทศไทยได้รับการจัดสรรโควตาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในภาคเกษตรประเทศอิสราเอล จำนวน 5,099 คน ได้ดำเนินการจัดส่งไปแล้ว จำนวน 3,100 คน โดยรัฐอิสราเอลจะส่งเครื่องบินเหมาลำมารับทุกวันพฤหัสบดี เวลา 09.00 น. สัปดาห์ละประมาณ 250 คน สำหรับค่าใช้จ่ายเป็นค่าตั๋วเครื่องบินไป – กลับและค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะอยู่ที่คนละ 50,000 บาท สัญญาจ้าง 3 ปี จากนั้นสามารถต่อได้อีก 2 ปี รวมเป็น 5 ปี มีรายได้เฉลี่ยคนละประมาณ 45,000 – 50,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ได้กำชับไม่ให้มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยหรือเป็นอันตรายต่อแรงงานไทย และได้สั่งการให้ฝ่ายแรงงานไทยฯ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ติดตามดูแลคนไทยที่ไปทำงานอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image