กทม.วางแนวทางป้องกัน-ควบคุมโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างทั่วกรุง

กทม.วางแนวทางป้องกัน-ควบคุมโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างทั่วกรุง

วันนี้ (21 พฤษภาคม 2564) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประธานการประชุมผ่านระบบซูม มีตติ้ง (ZOOM Meeting) ชี้แจงแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยมี นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัด กทม. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย สำนักงานเขต 50 เขต สำนักงานประชาสัมพันธ์ ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

ทั้งนี้ พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้แจ้งมติที่ประชุมศูนย์บูรณาการการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (ศบก.ศบค.) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน ซึ่งการประชุมดังกล่าว ศบก.ศบค.ให้กทม. แจ้งให้ผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อที่เป็นลูกจ้างของตน โดยการจัดให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลคู่สัญญาของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ลูกจ้างได้ทำประกันตน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการรักษาพยาบาลของหน่วยงานรัฐ

นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ในที่ประชุมได้ชี้แจงแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยผู้ประกอบการควรจัดให้มีการคัดกรองเบื้องต้น ด้วยการสังเกตผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้หยุดปฏิบัติงานและพาไปพบแพทย์ จัดหาหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่ หรือจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ สำหรับคนงานอย่างเพียงพอ ทั้งในพื้นที่ก่อสร้างและที่พักคนงาน จัดที่นั่งรับประทานอาหารในสถานที่ก่อสร้าง ให้มีระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร การรับ-ส่งพนักงาน ควรจำกัดจำนวนคนในรถไม่ให้เกิดความแออัด ไม่ให้นั่งหันหน้าเข้าหากัน หลีกเลี่ยงการพูดคุย ไม่ควรแวะระหว่างทาง และไม่ควรรับประทานอาหารระหว่างเดินทาง จัดหาสื่อให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่พนักงาน

Advertisement

พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า รวมทั้งให้เตรียมวางแผนการปฏิบัติ และทำความเข้าใจกับคนงาน กรณีมีผู้ป่วยยืนยัน เช่น การห้ามโยกย้าย การใช้พื้นที่ในการแยกผู้ป่วย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือผู้สัมผัสเสี่ยงออกจากครอบครัว การสนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวันในระหว่างกักตัว การจำกัดการเดินทางเข้าออกที่พัก การปิดพื้นที่พัก การอพยพโยกย้ายคนงานที่ไม่ป่วยกรณีมีการแพร่กระจายมาก การจัดการผู้ป่วยที่หายแล้วกลับมาทำงาน การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ทันทีเพื่อรับทราบและปฏิบัติตามคำแนะนำ

“ส่วนคนงานและบุคคลในครอบครัว ให้ทำความสะอาดห้องพัก และพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้งานร่วมกัน เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศเป็นประจำทุกวัน ไม่ควรอาบน้ำพร้อมกันในที่อาบน้ำรวม ควรใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม หรือบริเวณที่อาจมีการปนเปื้อนหรือมีการสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาผสมผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาปฏิบัติงาน ไม่รับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่ม และควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อน ไม่ไปในสถานที่แออัดหรือรวมกันของคนจำนวนมาก เช่น ตลาด ร้านค้า งดกิจกรรมสังสรรค์ที่มีการรวมกลุ่ม งดการดื่ม ในช่วงเวลาหลังเลิกงานหรือวันหยุด หมั่นสังเกตอาการตนเองและบุคคลในครอบครัว หากมีอาการไข้ ไอ จาม หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและแจ้งผู้ประกอบการทราบ กรณีพบผู้ป่วยให้ผู้ประกอบการแจ้งอีโอซี (EOC) สำนักอนามัย โทร.09 4386 0051 หรือ 08 2001 6373 หรือ 0 2245 4964” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

Advertisement

พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างพื้นที่เขตในกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ประกอบการแจ้งฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตต้นทางและปลายทางทราบ ก่อนเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน และให้เคลื่อนย้ายแรงงานให้เรียบร้อย ภายใน 1 วัน ระบุเหตุผลความจำเป็น และข้อมูลในการเดินทางเพื่อการทำงานข้ามเขต และให้แจ้งเขตปลายทางทราบ รวมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตอย่างเคร่งครัด โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.64 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

“ส่วนเอกสารประกอบการขออนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงาน ประกอบด้วย แบบคำขอการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน หนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือรับรองสถานะบุคคล รายชื่อแรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางหรือเคลื่อนย้าย ใบอนุญาตทำงาน สัญญาจ้างโครงการ เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่สำนักงานเขตร้องขอ” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า กทม.ได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ คำแนะนำในการป้องกันโควิด-19 ในสถานที่ก่อสร้าง ทั้งภาษาไทย ภาษาเมียนมา ภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการและแรงงานในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งสำนักงานเขตจะร่วมกับภาคีเครือข่ายตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ให้แพร่กระจายออกไปในวงกว้างต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image