โรคขาดธรรมชาติ สถานการณ์น่าห่วง ‘เด็กไทย’

โรคขาดธรรมชาติ

โรคขาดธรรมชาติ สถานการณ์น่าห่วง ‘เด็กไทย’

กำลังเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกกับ “โรคขาดธรรมชาติ” เกิดขึ้นกับคนทุกช่วงวัย ได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป

แต่น่าห่วงที่สุดคือ กลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ อาจไม่สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบได้ หากขาดพื้นฐานสำคัญนี้ หยิบยกเป็นประเด็นสำคัญในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “เด็กกับโรคขาดธรรมชาติ Children & Nature-deficit Disorder” จัดโดยสถาบันแห่งชาติแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม

ในงานปูพื้นถึงที่มา “โรคขาดธรรมชาติ” (Nature Deficit Disorder) ถูกพูดถึงครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2005 ในหนังสือ The Nature Principle และ Last Child in the Woods ของนักเขียนชาวอเมริกัน “ริชาร์ด ลุฟว์” ซึ่งสร้างความตื่นตัวในวงการแพทย์ สาธารณสุข และการศึกษาที่มีต่อเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ได้เผชิญวัฒนธรรมติดจออิเล็กทรอนิกส์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะติดเกม ติดโซเชียลมีเดีย รวมถึงมีสัมพันธ์และเรียนรู้โลกของธรรมชาติที่เปลี่ยนไป

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสถาบัน กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหานี้มาสักพักแล้ว จากผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี พ.ศ.2558-2559 โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงถึง ร้อยละ 67.1 เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สูงถึง ร้อยละ 24.2

Advertisement

“ในขณะที่สมองมนุษย์พร้อมที่จะเดิน พร้อมที่วิ่ง พร้อมที่จะใช้ร่างกายให้คล่องแคล่ว แต่กลับขาดโอกาส เพราะไม่มีสถานที่และเวลาให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นเพียงพอ ในขณะที่สมองพร้อมที่จะพูด ขอเพียงโอกาสที่จะมีคนมาพูดด้วย กลับมีเวลาในการมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่น้อยลง และในขณะที่สมองมนุษย์ ต้องพยายามเหลือเกินที่จะมีทักษะในการคิดเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็น แต่กลับไม่มีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน เหล่านี้ได้ทำให้เด็กร่างกายไม่แข็งแรง เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว สมาธิไม่ค่อยดี อยู่กับคนอื่นไม่ค่อยได้”

ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร
ของเล่นจากธรรมชาติ

ผศ.ดร.ปนัดดาเชื่อว่าไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ธรรมชาติความเป็นมนุษย์ยังคงต้องอยู่ มนุษย์ไม่ได้เติบโตด้วยการกินอิ่ม นอนหลับ ตัวสะอาด การบ้านเสร็จเท่านั้น แต่มนุษย์ยังต้องการความสัมพันธ์กับธรรมชาติ น้ำ อากาศ สายลม แสงแดด ต้นไม้ สรรพสัตว์ และความสัมพันธ์กับมนุษย์สังคมภายนอกด้วย

“การเลี้ยงดูให้เด็กโตกับมือถือ เล่นกับหน้าจอ มีสังคมออนไลน์ เข้าใจแต่วิชาการ แต่ไม่เข้าใจตัวเอง ไม่มีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับบุคคลนอกจอ เป็นการเลี้ยงดูที่ฝืนธรรมชาติความเป็นมนุษย์ ขาดธรรมชาติความเป็นเด็ก แล้วเด็กจะโตขึ้นมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้อย่างไร ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะคืนธรรมชาติให้กับเด็กๆ ของพวกเรา” ผศ.ดร.ปนัดดากล่าว

Advertisement

การคืนธรรมชาติให้กับเด็กไม่ใช่เรื่องยาก จริงๆ ประเทศไทยมีแบบอย่างที่ดีอยู่แล้ว อย่างแนวทางที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเลี้ยง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยธรรมชาติ เช่น ทรงพาไปปิกนิก เดินป่า ก่อไฟ ไปทะเล ฯลฯ

ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา มองว่า คนไทยควรน้อมนำมาเป็นแบบอย่าง เพราะการที่เด็กคนหนึ่งได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง อย่างการได้ลงมือทำ จะสร้างความมั่นใจให้เขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างมั่นคงในอนาคต

“ผมอยากให้มีการส่งเสริมและสนับสนุน ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนทั่วประเทศ ให้มีสนามเด็กเล่นจากธรรมชาติ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นกับหินดินทราย ปีนต้นไม้ เล่นกับสิ่งของที่นำกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งนอกจากความสนุกสนาน เสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายแล้ว เด็กจะรู้จักการเชื่อมโยงความรู้ และได้จินตนาการ” 

ภาพประกอบ เด็กเล่นเกมมือถือ
ดิสสกร กุนธร

ปิดท้ายด้วย แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์จิตเด็กและวัยรุ่น และแอดมินเพจเฟซบุ๊กเข็นเด็กขึ้นภูเขา แนะนำการเลี้ยงลูกยุคไซเบอร์ว่า ควรต้องเริ่มจากพ่อแม่ที่เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ควรไม่เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่อหน้าลูก ที่จะนำมาสู่ความสงสัยว่าคืออะไร อยากดูบ้าง ลองดูแล้วติดใจอยากดูอีก ซึ่งแนะนำเลยว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรใช้งานหน้าจอทั้งสิ้น แต่ควรได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ผ่านเวลาคุณภาพของครอบครัวที่ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น พาไปทำกิจกรรมเคลื่อนไหว เช่น ร้องเพลง วาดรูป ออกกำลังกาย ไปสวนสาธารณะ มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

หมอเบญจพรแนะนำอีกว่า เด็ก 6 ขวบขึ้นไป เริ่มให้ใช้ได้ แต่ต้องเป็นสื่อคุณภาพที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว ว่าไม่มีความรุนแรง เสริมสร้างการเรียนรู้ และปลูกฝังพฤติกรรมเชิงบวกโดยเฉพาะตัวละครที่เด็กชอบและมีพฤติกรรมเลียนแบบ

ส่วนช่วงวัยรุ่นที่ลูกๆ เริ่มมารบเร้าขอสมาร์ทโฟน เพราะเพื่อนๆ เริ่มกันหมดแล้ว ตรงนี้อยากให้ประเมินว่าลูกพร้อมหรือยัง เช่น รู้เท่าทันสื่ออิเล็กทรินิกส์แค่ไหน มีความรับผิดชอบในการรักษาของหรือยัง พ่อแม่รู้เท่าทันหรือยัง และก่อนส่งมอบให้ลูก ควรมีข้อตกลงร่วมกันก่อน ยกตัวอย่างลูกชั้น ป.1 มาขอมีสมาร์ทโฟน ก็ยังไม่ควรให้ แต่พ่อแม่ก็ต้องสื่อสารกับลูกอย่างเข้าใจ ว่าอะไรที่ลูกยังไม่พร้อม เมื่อไหร่ถึงจะได้ พ่อแม่มีบทบาทสำคัญป้องกันไม่ให้ลูกเป็นโรคขาดธรรมชาติ

แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image