เปิดแผนวัคซีนโควิดไทย ปี’64 ครบ 100 ล้านโดส สธ.ยันตลอด มิ.ย.กระจาย รพ. 5-6 ล้านโดส

เปิดแผนวัคซีนโควิดไทย ปี’ 64 ครบ 100 ล้านโดส สธ.ยันตลอด มิ.ย.กระจาย รพ. 5-6 ล้านโดส

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ในการแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ บรรยายเรื่อง การกระจายวัคซีนในประเทศไทย โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทยนั้น

นพ.นครเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศไทย สถาบันวัคซีนฯ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกันจัดหาวัคซีนซิโนแวค โดยกระจายไปตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา และมีการเจรจาสั่งซื้อเพิ่มเติมต่อไปอีกตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ในวันนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ก็ได้ส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้น จะมีวัคซีนแอสตร้าฯ ทยอยเข้ามา และกระจายออกไปยังจังหวัดต่างๆ ตามแผน

นพ.นครกล่าวว่า วัคซีนแอสตร้าฯ ที่สั่งซื้อไว้ราว 61 ล้านโดส ขึ้นอยู่กับบริษัทแอสตร้าฯ จะจัดการส่งมอบให้ แต่เชื่อว่าเกือบทั้งหมดมาจากไซต์การผลิตในประเทศไทย เพราะข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับแอสตร้าฯ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ทั้งนี้ ก็เพื่อความยืดหยุ่นในการรับวัคซีนจากทุกแหล่งผลิตของบริษัทแอสตร้าฯ เพราะเราเจาะจงจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ขาดความยืดหยุ่น ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนก็จะไม่เป็นผลดี

Advertisement

นพ.นครกล่าวว่า สำหรับการจัดหาวัคซีนชนิดอื่นๆ ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข (สธ.) ที่หารือร่วมกับคณะกรรมการวิชาการ สธ.เพื่อจัดหาวัคซีนในเป้าหมายปี 2564 รวม 100 ล้านโดส ขณะนี้ จัดหาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ วัคซีนซิโนแวค ส่งมอบแล้ว 6 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม และจะมีเป้าหมายอีก 10-15 ล้านโดส ซึ่งจะทยอยส่งมอบเดือนละ 2-3 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

นพ.นครกล่าวว่า ขณะที่วัคซีนแอสตร้าฯ อีก 61 ล้านโดส ที่จะทยอยส่งมอบเช่นกัน ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ กับ วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ในขั้นตอนเดียวกันคือ การเจรจาเงื่อนไขสัญญา แต่จำนวนที่สั่งซื้อวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้ผลิตจะจัดหาวัคซีนให้ได้

“ไม่ได้เป็นตัวเลขที่เราอยากไป แต่เป็นตัวเลขมากที่สุดที่เขาจะจัดการให้เราได้ในปี 2564 โดยไฟเซอร์จะสามารถส่งให้เราได้ในไตรมาส 3 ราว 20 ล้านโดส และจอห์นสันฯ จะส่งให้เราช่วงปลายไตรมาส 3 หรือ 4 ราว 5 ล้านโดส ขณะนี้รวมที่เรามีวัคซีนแล้ว คือ วัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส วัคซีนซิโนแวคอีก 6 ล้านโดสที่ส่งมอบแล้ว และที่จัดหาจากผู้ผลิตอื่น คือ วัคซีนซิโนแวค 15 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส วัคซีนจอห์นสันฯ อีก 5 ล้านโดส ดังนั้นปี 2564 ก็จะมีวัคซีนราวๆ 100 ล้านโดส” นพ.นครกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.โสภณกล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลไทย คือ ให้คนไทย คนชาติต่างๆ ในประเทศเข้าถึงวัคซีนได้ ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เราก็ได้ฉีดวัคซีนกันมาเรื่อยๆ เพียงแต่วันที่ 7 มิถุนายนนี้ เป็นวันที่จะมีการเริ่มต้นฉีดจำนวนมากในทุกพื้นที่ ดังนั้น การเตรียมการสำหรับวันคิกออฟ สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเป็นที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนต่างจังหวัด จะเริ่มในโรงพยาบาล (รพ.) ประจำจังหวัด รพ.ประจำอำเภอ รพ.เอกชน และ รพ.รัฐในสังกัด ทั้งนี้ ในการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ ที่ได้ทดสอบระบบตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 7 มิถุนายนนี้ ก็จะเริ่มในกลุ่มที่ 2 สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่จองคิวฉีดเข้ามาในระบบหมอพร้อมและแพลตฟอร์มอื่นๆ

นพ.โสภณกล่าวว่า ประชาชนผู้ที่จองผ่านหมอพร้อม ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ จะได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ เป็นหลัก แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเราได้รับการส่งมอบเป็นระยะ ก็จะมีการกระจายออกไปเป็นระยะเช่นกัน ดังนั้น กรุงเทพฯ ก็จะได้สัดส่วนที่สูงกว่าจังหวัดอื่น เนื่องจากจำนวนประชากรและการระบาดที่มากกว่า คาดว่าล็อตแรกจะส่งไปเกือบ 1 ล้านโดส จากทั้งแอสตร้าฯ และซิโนแวค ดังนั้นใน 2 สัปดาห์แรก ประมาณ 5 แสนโดส

“การฉีดวัคซีนในวันดังกล่าวจะช่วยให้เราเห็นการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม ชัดเจนว่า มีกี่คนในวันดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีหลายแสนคนทั่วประเทศ พร้อมติดตามอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด มีทั้งที่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับวีคซีนโดยตรง ทั้งนี้ ทุก รพ.ก็จะทยอยรับวัคซีนไปเตรียมการเพื่อเริ่มคิกออฟ โดยจะมีการนำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นระยะ” นพ.โสภณกล่าว

นพ.โสภณกล่าวต่อว่า จำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจะได้รับจากบริษัทผู้ผลิต จะเป็นงวดๆ โดยในเดือนมิถุนายน จะแบ่งเป็น 4 งวด เฉพาะสัปดาห์นี้ วัคซีนแอสตร้าฯได้รับแล้ว 2.4 แสนโดส และในช่วงท้ายสัปดาห์ จะได้รับราวๆ กว่า 1 ล้านโดส ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (3 มิถุนายน 2564) จะมีการส่งวัคซีนซิโนแวคอีก 7 แสนโดส ดังนั้น ในช่วงสัปดาห์นี้ เราจะได้รับวัคซีนราว 2 ล้านโดส และตลอดเดือนมิถุนายน ได้รับจัดสรรเพิ่ม โดยจะมีการกระจายไป รพ.ต่างๆ 5-6 ล้านโดส ดังนั้น ทุกพื้นที่จะมีวัคซีนฉีดในเดือนมิถุนายนนี้

นพ.โสภณกล่าวว่า การกระจายวัคซีนจะคำนึง 2 ส่วน คือ 1.ประโยชน์ในการป้องกันโรคในระดับบุคคล 2.การสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรในพื้นที่ระบาด เพื่อประโยชน์ของประชากรหลายคน ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ข้อ ในพื้นที่ระบาดก็จะได้รับการจัดสรรวัคซีนที่สูง เพื่อป้องกันพื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาด โดยคาดว่าประมาณ 4-6 เดือน ทุกพื้นที่จะได้รับวัคซีนครบทุกคน โดยจะเริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพื่อลดการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ส่วนแผนการฉีดวัคซีนสำหรับชาวต่างชาติ ได้เริ่มดำเนินการในกลุ่มคณะทูตและครอบครัว เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ (ยูเอ็น) ที่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้า และฉีดใน รพ.ที่กำหนด เบื้องต้นมี 3 แห่ง และจะเพิ่มเติมมากขึ้นในสัปดาห์หน้า สำหรับชาวต่างชาติทั่วไป ก็จะเริ่มลงทะเบียนเพื่อฉีดได้เช่นเดียวกับคนไทย โดยจะเริ่มใน 2 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ในเว็บไซต์ www.thailandIntervac.com

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.มีบทบาทในการสนับสนุนค่าบริหารจัดการฉีด ทั้งในการฉีดนอก รพ. ที่มีจำนวนมาก พร้อมจัดสรรงบประมาณดูแลอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน ดังนั้น ผู้ที่สงสัยว่าตนเองเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด สามารถแจ้งกับสถานบริการที่ไปฉีดได้ โดยไม่มีข้อกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจในการฉีดวัคซีนที่จะเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ สปสช.จะมีอนุกรรมการพิจารณาชดเชยอาการไม่พึงประสงค์หลังวรับวัคซีน ทำให้ประชาชนไม่ต้องรอจนถึงขั้นตอนสุดท้าย และต้องย้ำว่า วัคซีนที่ฉีดทั่วโลกในปัจจุบัน เป็นการฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงขอให้ประชาชนอย่ารีรอที่จะพบแพทย์

“การจ่ายค่าชดเชยนั้น สปสช.ไม่ได้ผูกกับประกันของบริษัทเอกชน ดังนั้น สำหรับคนไทย เราไม่ได้คำนึงว่า ผู้ที่มีประกันจากเอกชนแล้วเราจะละเลย เพราะทุกคนสามารถยื่นเรื่องได้เหมือนกันหมดทุกคน” นพ.จเด็จกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงข่าวที่ประเทศฟิลิปปินส์จะได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ จากบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ล่าช้าและน้อยกว่ากำหนด จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยหรือไม่ นพ.นครกล่าวว่า คาดว่าจะเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากประเทศฟิลิปปินส์สั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าฯ ซึ่งเขาจะต้องจัดสรรวัคซีนตามไซต์การผลิตต่างๆ ดังนั้น การส่งล่าช้า จะเกี่ยวข้องกับบริษัทแอสตร้าฯ กับรัฐบาลประเทศนั้นๆ ตนไม่สามารถตอบแทนใครได้ ส่วนประเทศไทยก็อยู่ระหว่างการส่งมอบเป็นรายสัปดาห์ เพื่อจัดสรรวัคซีนออกไป ทั้งนี้ ข้อตกลงระหว่างกรมควบคุมโรคกับบริษัทแอสตร้าฯ เพราะเราไม่ห้ามการส่งออกวัคซีน แต่ต้องมีการหารือกันบนพื้นฐานการจัดสรร โดย สธ.กับแอสตร้าฯ โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่ต้องเข้าใจสถานการณ์ร่วมกัน

“ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างก็ไม่มีวัคซีนในคลังจำนวนเยอะๆ แล้วส่งทีเดียว แต่เป็นการผลิตไปส่งมอบไป ดังนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ จังหวะเวลา ทุกขั้นตอนมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพครบถ้วนและยาวกว่าที่คาดไว้ ซึ่งก็เกิดขึ้นได้ ข่าวต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องรับฟัง แต่บริษัทแอสตร้าฯ ต้องเป็นผู้จัดการ ส่วนประเทศไทยก็รวบรวมจำนวน แล้วคุยกับแอสตร้าฯ ว่าจะส่งมอบให้เราแต่ละช่วง อย่างไรตามการผลิตของเขา เข้าใจว่าหลายคนรู้สึกคับข้องใจ แต่หากเข้าใจสถานการณ์ที่ผู้ผลิตไม่มีวัคซีนจำนวนมากรอส่ง แต่เป็นการผลิตไปส่งไป ดังนั้น การที่เรามีฐานการผลิตในประเทศ ก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่า อย่างไรก็ตามยังมีวัคซีนในประเทศ” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image