นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ไขทุกข้อข้องใจ ปมจ่ายเยียวยาผลกระทบฉีดวัคซีนโควิด

หากจะพูดกันตามตรง ประชาชนบางส่วนในตอนนี้มีความวิตกกังวลกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพราะมีข่าวออกมาเป็นระยะๆ เรื่องอาการไม่พึงประสงค์หลายอย่างตั้งแต่สถานเบาไปถึงหนัก เช่น เวียนหัว อาเจียน ไข้ ชา แขนขาอ่อนแรง ฯลฯ ล่าสุด ก็มีกรณีฉีดวัคซีนแล้วกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราทั้งๆ ที่ไม่มีโรคประจำตัวอะไร และที่ร้ายกว่านั้นคือ มีคนเสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีนหลายคน แถมแพทย์ยังระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากเรื่องอื่น เช่น เครียด ทำงานหนัก โรคประจำตัว แพ้อาหารเสริม มีลิ่มเลือดจากการกินยาคุม ฯลฯ แต่ไม่เคยบอกสักครั้งว่าเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ซึ่งก็ขัดกับความรู้สึกของใครหลายๆ คน เพราะป่วยเป็นโรคประจำตัว หรือกินยาคุมมานานไม่เสียชีวิต แต่พอฉีดวัคซีนไม่นานกลับเสียชีวิต แล้วจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีนได้อย่างไร

การระบุสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาอีกว่า แล้วที่รัฐบอกว่าจะจ่ายเงินเยียวยา หากได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีน แต่กลับระบุสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอย่างอื่น แบบนี้ก็คงไม่มีใครได้เงินเยียวยากันเลยสักรายใช่หรือไม่

วันนี้ “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเรื่องการจ่ายเงินเยียวยากรณีมีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน จะมาไขข้อข้องใจในทุกประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น

นพ.จเด็จ กล่าวถึงภาพรวมของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่าวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ยังเป็นการใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน ฉะนั้น ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียง แม้แต่วัคซีนที่เสร็จสมบูรณ์แล้วบางครั้งก็ยังเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ ดังนั้น ไม่มีอะไรที่จะตอบได้ว่าปลอดภัย 100% อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข้อมูลคนที่ฉีดแล้วทั่วโลกกว่า 100 ล้านเข็ม พบว่าผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับความเสี่ยงจากการติดโควิด-19 ดังนั้น ทุกประเทศจึงตัดสินใจใช้วัคซีนในการป้องกันการแพร่กระจายของโรค

Advertisement

“เราไม่ปฏิเสธว่าอาจเกิดผลข้างเคียงได้ แต่ขอให้มั่นใจว่าผลข้างเคียงหลายอย่างสามารถป้องกัน หรือเตรียมการรับมือได้ จะเห็นว่าหลังฉีดวัคซีนจะมีคำแนะนำให้อยู่ในสถานที่ฉีดประมาณครึ่งชั่วโมง เพราะผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะเกิดประมาณครึ่งชั่วโมงหลังจากฉีด ดังนั้น ตรงนี้ก็เป็นกระบวนการลดความเสี่ยง เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยกับประชาชนได้มากขึ้น” นพ.จเด็จกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกิดการเสียชีวิต ในหลักทางการแพทย์แล้ว เมื่อเกิดการเสียชีวิตแล้วมีประวัติว่าไปฉีดวัคซีนมาเมื่อเร็วๆ นี้ จริงๆ แล้วต้องสงสัยไว้ก่อนว่าเกี่ยวกับวัคซีน ถือเป็นหลักทางการแพทย์ เพราะวัคซีนยังอยู่ในช่วงการใช้ในภาวะฉุกเฉิน และเชื่อว่าแพทย์ทุกคนต้องนึกในใจไว้ก่อนว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนแล้วเข้าไปพิสูจน์หาสาเหตุที่แท้จริงจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ใช่ ดังนั้น กรณีมีข่าวที่มีการเสียชีวิตแล้ว แพทย์บอกว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีน ตนไม่แน่ใจว่าข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่โดยหลักการแพทย์ต้องบอกก่อนว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน จนกว่าจะพิสูจน์ว่าไม่ใช่

ส่วนการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อเยียวยาความเสียหายซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ สปสช.นั้น เป็นระบบการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น คำว่าเบื้องต้น หมายถึงไม่ต้องถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดให้รู้จนแน่ชัดแล้วถึงจ่ายเงิน แต่เมื่อใดที่ประชาชนไปฉีดวัคซีนแล้วเกิดการเสียชีวิต แล้วญาติสงสัยว่าเกี่ยวกับวัคซีนก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้ามาได้เลย ไม่ต้องรอผลการพิสูจน์อะไรทั้งสิ้น

Advertisement

“ยื่นเรื่องมาก่อน สปสช.มีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ คณะอนุกรรมการจะพิจารณาโดยใช้ความเชี่ยวชาญของความเป็นแพทย์ ดูจากประวัติ จากข้อมูลต่างๆ บางครั้งจะเห็นว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัวแล้วไปฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต เป็นไปได้ว่าวัคซีนไปทำให้โรคประจำตัวกำเริบได้ ดังนั้น ทุกกรณีที่สงสัยขอให้ส่งเรื่องมาที่อนุกรรมการ การที่แพทย์บอกว่าไม่เกี่ยวกับวัคซีนไม่ได้เป็นการตัดสินว่าจะไม่จ่ายเงินชดเชย เพราะคณะอนุกรรมการเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่ใช่แพทย์ที่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตหรือใครก็ตามที่พูดในลักษณะนั้น” นพ.จเด็จ กล่าว

ส่วนประเด็นที่ว่า ระยะเวลาการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนไปนานกี่วันถึงจะขอรับเงินชดเชยเบื้องต้นได้ สปสช.ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน เพียงแต่ด้วยระยะเวลาที่ห่างออกไป ความเกี่ยวข้องกับวัคซีนก็จะน้อยลงไป แต่ถ้าฉีดไป 14 วันแล้ว ยังสงสัยว่าเกิดจากวัคซีนก็ยื่นเรื่องเข้ามาได้ อย่าเพิ่งไปฟังคนโน้นคนนี้พูดแล้วตีความเองโดยไม่ได้ส่งเรื่องมาที่คณะอนุกรรมการ

“ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน คนที่จะวินิจฉัยว่าจะจ่ายเงินเยียวยาไม่ใช่แพทย์ที่อยู่หน้างาน ไม่ใช่ตัวผู้ได้รับผลข้างเคียงเอง แต่เป็นอนุกรรมการ แล้วการจ่ายชดเชยตรงนี้คือชดเชยเบื้องต้นไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด อาจเป็นเหตุสุดวิสัยก็ได้ จ่ายไปก่อน แม้หลังจากจ่ายไปแล้วจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เกี่ยวกับวัคซีน ก็ไม่มีผลที่จะเรียกเงินคืน” นพ.จเด็จกล่าว

นพ.จเด็จกล่าวว่า สำหรับกรณีที่ไม่ได้เสียชีวิตแต่ก็มีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น บางคนอาจสงสัยว่าต้องรุนแรงระดับไหนถึงจะได้รับเงินเยียวยา เพราะในหลักเกณฑ์ของ สปสช.ใช้คำว่าบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง แล้วถ้าเป็นอาการชั่วคราวจะมีสิทธิขอรับเงินเยียวยาได้หรือไม่ ประเด็นนี้ต้องบอกว่าขอให้ประชาชนยื่นเรื่องเข้ามาก่อน คำว่าเจ็บป่วยต่อเนื่องนี้อย่าเพิ่งไปตัดสินเอาเอง หรืออย่าไปตัดสินจากเวลาที่เกิดอาการ เพราะยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น เป็นตั้งแต่วันแรกแต่พอหมอซักประวัติแล้วเพิ่งทราบ ความต่อเนื่องก็ต้องนับตั้งแต่วันแรก เป็นต้น ดังนั้น อย่าเพิ่งตัดสินว่าจะได้หรือไม่ได้เยียวยา ถ้าสงสัยว่าเกี่ยวกับวัคซีนก็ให้ยื่นเรื่องเข้ามาก่อน

“ที่พูดอย่างนี้ เพราะเราอยากรู้ผลข้างเคียงในทางการแพทย์ ดังนั้น ถ้าเกิดผลข้างเคียงแล้วไม่บอก ไม่แจ้งเข้ามา เราก็จะนึกว่าวัคซีนมันดี จริงๆ ต้องช่วยรายงานผลพวกนี้ไปให้บริษัทวัคซีนเขาปรับปรุงต่อไปในอนาคต ถ้าบอกว่าไม่ใช่จากวัคซีนเสียหมด ทุกอย่างดีอยู่แล้ว เราจะไม่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีนในอนาคตเลย นอกจากนี้ เราก็ยังอยากทราบว่าวัคซีนมีผลข้างเคียงอะไรที่ต้องระวังหรือต้องวางแผนรับมือเมื่อมีการฉีดในจำนวนที่มากขึ้น ดังนั้น ย้ำอีกครั้งว่าเจ็บป่วยต่อเนื่องอย่าคิดเอาเอง ถ้าคิดว่าเกี่ยวกับวัคซีนให้ยื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยาเข้ามาแล้วจะมีผู้เชี่ยวชาญมาดูให้ ถ้าผลออกมาว่าไม่เกี่ยวก็ไม่เป็นไร จ่ายแล้วก็จ่ายไป” นพ.จเด็จกล่าว

เลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่ สปสช.ออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเยียวยาผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิดประมาณ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยามาแล้ว 260 ราย และจ่ายเยียวยาไปแล้ว 162 ราย อาการส่วนใหญ่ที่พบคืออาการชา บางคนชา 1 วัน บางคนชาเป็นเดือนก็มี ระยะเวลาที่ต่างกันออกไปจะมีผลต่อการชดเชยที่ต่างกันออกไป ส่วนกรณีเสียชีวิตมียื่นเรื่องเข้ามา 6 รายทั่วประเทศ และเพิ่งมีอนุมัติจ่าย 4 แสนบาท ไป 1 ราย ในพื้นที่ สปสช.เขต 4 ส่วนรายที่ยื่นเข้ามาจากพื้นที่ กทม. คณะอนุกรรมการพิจารณาว่าไม่เกี่ยวข้อง ทำให้เหลืออีก 4 ราย ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา

นพ.จเด็จกล่าวด้วยว่า ในส่วนของขั้นตอนการยื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยาก็ไม่ยุ่งยาก เอกสารที่ใช้ในตอนนี้เป็นเพียงการกรอกแบบฟอร์มเท่านั้น โดยในแบบฟอร์มจะให้เขียนเลขบัตรประชาชน สถานที่ที่ไปฉีด อาการที่เกี่ยวข้อง เลขบัญชีธนาคาร โดยมีจุดรับเรื่อง 3 จุดคือ 1.โรงพยาบาลหรือสถานที่ที่ไปฉีดมา 2.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัด และ 3.สำนักงานเขตของ สปสช. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไปจะเริ่มการปูพรมฉีดวัคซีนทั่วประเทศ จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบก็อาจจะมีมากขึ้น ดังนั้น สปสช.จึงพยายามขยายเครือข่ายเพื่อช่วยรับเรื่องจากประชาชน เช่น ไปยื่นเรื่องที่ อสม. หรือหน่วย 50(5) แล้วเครือข่ายเหล่านี้ก็จะช่วยส่งเรื่องต่อไปยังจุดรับเรื่องทั้ง 3 จุด

“นอกจากนี้ เรายังต้องทำงานเชิงรุกให้เร็วที่สุด ตอนนี้ได้คุยกับผู้อำนวยการ สปสช.เขตแต่ละเขตว่าให้พยายามเข้าไปติดตามในโซเชียลมีเดียต่างๆ ถ้าพบเคสเกิดขึ้นก็ให้รีบประสานตัวผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจ่ายเงินเยียวยา เช่นเดียวกับคณะอนุกรรมการในเขตต่างๆ ถ้ามีการขอรับเงินเยียวยาเข้ามาจำนวนมากจนทำให้พิจารณาไม่ทัน เราก็จะเพิ่มจำนวนอนุกรรมการอีก รวมทั้งจะขอรับข้อเสนอในเรื่องการให้ตัวแทนภาคประชาชนหรือผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย เพราะถ้ามีมุมมองจากภาคประชาชนหรือผู้ได้รับความเสียหายเข้ามาด้วยก็อาจเป็นประโยชน์ในการพิจารณา” นพ.จเด็จกล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระบวนการชดเชยความเสียหายจากวัคซีนถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ไทยเราไม่เคยเจอกรณีนี้มาก่อน ดังนั้น ก็ต้องให้เวลาระบบในการปรับตัวด้วย ซึ่งปัจจุบันถ้าติดตามดูจะเห็นว่าการตีความหรือวินิจฉัยกันเองโดยที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นทางการโดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ดังนั้น ต้องขอย้ำว่าเมื่อเกิดข้อสงสัย อย่าเพิ่งตัดสินเอง ขอให้ส่งเรื่องมาให้ สปสช. หรือให้ง่ายที่สุดคือโทรมาที่สายด่วน 1330 ก็ได้ เจ้าหน้าที่จะเดินเรื่องให้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image