‘หมอประสิทธิ์’ จับตาโควิด 4 สายกลายพันธุ์ ชี้เปิดประเทศเร็ว เสี่ยงซ้ำเติมเศรษฐกิจ

 

“หมอประสิทธิ์” จับตาโควิด 4 สายกลายพันธุ์ ชี้เปิดประเทศเร็ว เสี่ยงซ้ำเติมเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงอัพเดตสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั่วโลก ว่า ข้อมูลวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก รายงานทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สะสมอย่างน้อย ร้อยละ 25 ของประชากรในประเทศใดได้รับการฉีดวัคซีน จะเริ่มเห็นผลบวก แม้ว่าขณะนี้มีประชากรโลกได้รับวัคซีนรวมกว่า ร้อยละ 25 ของประชากรโลกกว่า 7,674 ล้านคน ซึ่งฉีดไปแล้วกว่า 2,303 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 35 ล้านโดส แต่กระจายส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง ส่วนกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางถึงน้อยได้รับค่อนข้างต่ำ ซึ่งตอนแรกที่เริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 8 ธ.ค.63 ทั่วโลกติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เฉลี่ยวันละ 6 แสนราย ซึ่งในวันนี้ตัวเลขลดลงมาเหลือครึ่งหนึ่ง ราว 3-3.5 แสนราย ขณะเดียวกัน ผู้เสียชีวิตก็ลดลงจากวันละ 12,000 รายเหลือ 8,000-9,500 ราย ดังนั้น ทั่วโลกเริ่มมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตแนวโน้มน้อยลง

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก แบ่งโลกออกเป็น 6 พื้นที่ใหญ่ จะเห็นว่าการกระจาย หรือจำนวนผู้ป่วยแต่ละวันของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน โดยเอเชียตะวันเฉียงใต้ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่บางพื้นที่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นนัก สถานการณ์ระบาดในสหรัฐอเมริกา ภายหลังการรณรงค์ฉีดวัคซีน ระบบการปกครองนำสู่ทิศทางที่ชัดเจนขึ้น ฉีดวัคซีนสะสม 306,509,795 โดส คิดเป็น ร้อยละ 52 ของจำนวนประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสแล้ว ทำให้จำนวนผู้ป่วยใหม่และเสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศบราซิล ยังอยู่ในช่วงอันตราย แม้ฉีดวัคซีนแล้ว 77,187,235 โดส คิดเป็น ร้อยละ 25 ของประชากร จำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มลดลง แต่ผู้ป่วยรายใหม่มากขึ้นกว่า 1 เท่าตัว เนื่องจากพบการกลายพันธุ์

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า สายพันธุ์กลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่ต้องติดตามอย่างเข้มงวด (Variants of concern) มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.สายพันธุ์อัลฟ่า หรือ B.1.1.7 แพร่ระบาดเร็ว จากจุดกลายพันธุ์ตำแหน่ง N501Y ซึ่งขณะนี้กระจายกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศอังกฤษพบว่า สายพันธุ์จะมีการกลายพันธุ์อีกจุดหนึ่ง 2.สายพันธุ์เบต้า มีจุดกลายพันธุ์ที่ N501Y เช่นเดียวกับสายพันธุ์อัลฟ่า กระจาย 20 ประเทศทั่วโลกและกลับไปที่อังกฤษด้วยที่สำคัญของการกลายพันธุ์อีกจุดหนึ่งคือ E484K ซึ่งอาจทำให้ไวรัสตัวนี้หลุดออกไปจากระบบภูมิคุ้มกันปกติ หมายความ ต้องระวังว่าจะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงหรือไม่ 3.สายพันธุ์เดลต้า แพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า เพราะมีจุดการกลายพันธุ์ตำแหน่ง L452R และกำลังแพร่กระจายอย่างเร็วในอังกฤษ และ 4.สายพันธุ์แกมม่า มีจุดกลายพันธุ์ตำแหน่ง N501Y เหมือนกับ 2 สายพันธุ์แรก เป็นเหตุผลที่แพร่ระบาดเร็ว กว่า 10 ประเทศ รวมถึงอังกฤษ และยังมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง E484K ด้วย

Advertisement

“จะเห็นได้ว่าสหราชอาณาจักร แทบจะมีครบทุกสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักรเอง และสายพันธุ์อื่นก็เข้าไปเพิ่ม ทั้งสายพันธุ์เบต้า เดลต้า และแกมม่า ดังนั้น ประเทศที่เปิดประเทศตัวเองเร็ว ปล่อยให้คนเข้าเร็ว ต้องระวังเพราะบางทีการเข้ามาซึ่งสายกลายพันธุ์ อาจดื้อกับวัคซีน ก็จะเป็นเรื่องใหญ่” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว และว่า ต้องติดตามธรรมชาติของไวรัส เพราะบางตัวแพร่เร็ว บางตัวดื้อต่อวัคซีน และต่อไปอาจมีบางตัวอาจรุนแรงขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสายกลายพันธุ์ต่างๆ มีความรุนแรงของโรคที่มากขึ้น ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิด

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในขณะนี้ว่า ต้องมองถึงจำนวนวัคซีนที่ฉีดคู่ขนานด้วย ในเชิงยุทธศาสตร์ หากที่ใดมีอัตราติดเชื้อมากไม่ควรผ่อน เพราะจะเป็นการเปิดศึกใหม่เข้ามา หากย้อนหลังไป 2-3 อาทิตย์ไม่มีการติดเชื้อใหม่เลยและพื้นที่ตรงนั้นมีมาตรการเข้มในการดูแลอยู่ก็อาจจะผ่อนคลายได้บ้าง แต่ต้องเป็นการผ่อนคลายและติดตาม หากพบติดเชื้อต้องรีบหยุดล็อคพื้นที่ตรงนั้นทันที สิ่งที่ตนห่วง คือ กระบวนผ่อนคลายยังไม่น่ากลัวเท่าการเดินทางผ่านเส้นทางธรรมชาติเข้ามา ซึ่งแต่ละคนที่เข้ามาบ่อยครั้งอาจเจอสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ส่วนกระบวนการที่ผ่อนเราก็ต้องเฝ้าจับตา และพร้อมให้ข้อเสนอแนะหากเห็นว่าเร็วหรือมากเกินไป ส่วนตัวยังย้ำสุขภาพต้องมาก่อน เศรษฐกิจต้องพิจารณาแน่นอน แต่เมื่อไหร่สุขภาพเอาไม่อยู่เกิดการติดเชื้อมากมาย ก็อาจจะแย่ลง

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเปิดภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ที่ตามแผนจะเริ่มวันที่ 1 ก.ค.นี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่ายังเร็วไป แต่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจก็คงพิจารณาในส่วนตรงนั้น ตอนนี้มีการเตรียมการเพื่อเปิดภูเก็ตเพื่อดึงเศรษฐกิจกลับมา โดยมีการนำวัคซีนเข้าไปฉีดให้เยอะเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันและเปิดให้ต่างประเทศเข้ามา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ที่ห่วงไม่ได้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีน แต่ความพร้อมของจังหวัดในการรองรับระบบต่างๆ โดยเฉพาะหากมีคนนอกพื้นที่เข้ามาและมีสายพันธุ์ใหม่ๆ เข้ามา ขอย้ำว่า วัคซีนไม่ได้ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ทั้งหมด แม้ว่าส่วนใหญ่ยังครอบคลุม แต่หากสายพันธุ์แปลกใหม่เข้ามา แล้วคุมไม่ได้ กลไกการจำกัดพื้นที่หรือการควบคุมไม่ได้คู่ขนานกัน และยิ่งหากมองแค่ฉีดวัคซีนครบก็ปล่อย ยิ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว

Advertisement

“หากเกิดการระบาดใหม่ในภูเก็ตอีก จะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจในภูเก็ต เพราะขณะนี้คงเตรียมการแล้วที่จะเปิด และคงต้องมีการหาแหล่งเงินที่จะเตรียมการรองรับการเปิด หากระบาดอีกเท่ากับเงินที่ลงไปกับการหาวัตถุดิบก็จะเป็นการสูญเสีย ขณะนี้ก็ต้องเฝ้าดูถึงระบบความเข้มงวดในการป้องกันโดยเฉพาะคนนอกพื้นที่ที่หลุดเข้ามาทำงาน ขอให้ระวังสิ่งเหล่านี้ให้ดี จะเฝ้าติดตามดู นอกจากนี้ โดยปกติการเดินทางเข้ามาประเทศไทยต้องมีการควอรันทีน 14 วัน แต่หากมองว่าต้องการให้เป็นพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจ เกรงจะมีการปรับให้ไม่ต้องถึง 14 วันให้สั้นกว่านั้น หากเป็นเช่นนั้นถ้าเป็นบางสายพันธุ์ที่ 14 วันก็อาจไม่พอ อย่างจีนก็กำหนด 21 วันด้วยซ้ำ คงเป็นสิ่งหนึ่งที่ถ้าไม่ลองไม่รู้ แต่ถ้าลองแล้วเกิดบทเรียนก็ขอให้เป็นบทเรียน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image