สธ.เผยเตียง กทม. แน่น เหตุแคมป์คนงาน ตรวจแล็บไร้มาตรฐาน เพิ่มงาน จนท. สอบข้อมูลซ้ำ

สธ.เผยเตียง กทม. แน่น เหตุแคมป์คนงาน ตรวจแล็บไร้มาตรฐาน เพิ่มงาน จนท. สอบข้อมูลซ้ำ

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงปัญหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะเตียงไอซียู ว่า เรื่องนี้ กทม. เป็นคนบริหารจัดการภาพรวม แต่ตอนนี้เตียงไอซียู เตียงสีแดงในภาครัฐนั้นเหลือ 20 เตียง จาก 400 กว่าเตียง ตอนนี้เหมือนกับว่ารพ.แต่ละแห่งไม่มีเตียงไอซียูว่างเลย ดังนั้น จึงมีผลต่อการการส่งต่อผู้ป่วยหนักไม่ค่อยได้ ตอนนี้ในภาคของการรักษาโรคนั้นหนักมากๆ หนักมาเป็นกว่า 10 วันแล้ว ก่อนหน้านี้เราเคยบอกว่าหากมีผู้ป่วยมากวันละ 500-600 คน เตียงไอซียูก็จะตึงไปด้วย แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าเกือบจะ 2 เดือนแล้ว ที่พื้นที่ กทม.มีผู้ป่วยมากกว่าวันละ 1 พันรายขึ้นไป อย่าง รพ.ราชวิถี ก่อนหน้านี้มีการขยายเตียงไอซียูที่โรงจอดรถ 10 เตียง ก็รับผู้ป่วยไป 12 ราย รพ.นพรัตน์ เพิ่งขยายไอซียูเสร็จเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 9 เตียง ก็เต็มแล้ว รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ ขยายเป็น Cohort ICU แทบเต็มไปเรียบร้อย ซึ่งตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เราพยายามขยายศักยภาพ และรับได้เพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ 10 วันหลังมานี้ตึงมาก

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การที่มีผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้นนั้น ตรงไปตรงมาคือเกิดจากสายพันธุ์อัลฟ่า(อังกฤษ) ที่ยังครองการระบาดอยู่ และตอนนี้ก็มีเดลตา (อินเดีย) ที่กำลังเข้ามาชิงพื้นที่นั้น ทั้ง 2 สายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว สมมติถ้าเรามองว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงอาการเป็นสีเหลือง สีแดงเท่าเดิม แต่จำนวนผู้ป่วยมีมากขึ้นในแต่ละวัน ตัวคูณเยอะขึ้น ก็ส่งผลให้มีการจัดเตียงสีเหลือง สีแดงเยอะขึ้นด้วย แต่นี่เนื่องจากว่าทั้งสายพันธุ์อัลฟา และสายพันธุ์เดลตา ทำให้อาการเยอะขึ้นด้วย ดังนั้นโอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง สีแดงก็เยอะขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นในแง่ของความรุนแรง และจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับเตียงผู้ป่วยที่จะรองรับ

เมื่อถามว่าขณะนี้ทั้งสายพันธุ์อัลฟ่า และเดลตาที่ทำให้มีการแพร่เร็ว และอาการรุนแรง มีการประเมินหรือไม่ว่าต้องเพิ่มเตียงไอซียูอีกเท่าไหร่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตอนนี้เตียงไอซียูขยายยากแล้ว เพราะทุกรพ. ทั้งรัฐ โรงเรียนแพทย์ มีการขยายศักยภาพไปมาก รวมถึงนำแพทย์ฝึกหัด เรสซิเดนท์ของสาขาต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำงาน แม้กระทั่งรพ.มงกุฎวัฒนะ ที่มีการตั้งไอซียูสนามก็รับผู้ป่วยไปเต็มเอี๊ยดแล้ว ดังนั้นแต่ละแห่งค่อนข้างขยายไอซียูเพิ่มยาก เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็ต้องพยายามเอาคนที่ป่วยเข้ารพ.ให้เร็ว ซึ่งจริงๆ เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวของภาครัฐก็ค่อนข้างตึง ใช้วิธีหมุนวันต่อวัน คนไข้หายกลับบ้านไปก็รับผู้ป่วยรายใหม่เข้ามา ฮอทพิเทลที่ตั้งขึ้นก็รับจนเต็มเกือบหมด แทบจะวันต่อวันที่ต้องหมุนกันเอา แต่ยังมีรพ.เอกชน ที่ตรวจสอบล่าสุดแล้วยังมีฮอทพิเทลว่างอยู่กว่า 2 พันเตียง

Advertisement

ทั้งนี้ หากเจอผู้ป่วยแล้วต้องนำเข้ารพ.เร็วเพื่อดูอาการ หากเริ่มมีอาการก็ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถ้ายังไม่มีอาการก็ให้ยาฟ้าทะลายโจร หวังว่าจะลดการเปลี่ยนแปลงอาการจากเขียวเป็นเหลือง จากเหลืองเป็นแดงได้ เพราะฉะนั้นคนที่ป่วยแบบที่มีใบแล็บถูกต้องก็รีบไปฮอทพิเทล อย่างไรก็ตาม อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยเราได้ คือแคมป์คนงาน ที่เจ้าของให้บริษัทแล็บไปตรวจ โดยใช้แล็บที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นพอตรวจเจอ แล้วประสานเข้ามาที่ 1668 เพื่อหาเตียงนั้น แต่แทนที่ 1668 จะทำหน้าที่หาเตียงให้ กลับต้องมาทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และหาใบรับรองการตรวจแล็บที่ถูกต้องให้อีกด้วย เพราะใบแล็บที่โรงงานใช้เอกชนไปตรวจนั้นบางแห่งได้มาตรฐาน บางแห่งไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้ 1668 ต้องไปทำงานอืนที่ไม่ใช่การหาเตียง

“ตอนนี้ถ้าเป็นประชาชนทั่วไป ตอนนี้ที่สงสัยแล้วไปรับการตรวจนั้นไม่มีปัญหาแล้ว แต่ที่มีปัญหาตอนนี้คือเจ้าของโรงงาน เจ้าของแคมป์คนงานไปหาบริษัทแล็บเอกชนมาเอง เรื่องนี้ได้แจ้งไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ทราบเรื่องแล้ว” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image