ผอ.องค์การเภสัชฯ เผยผลทดลองวัคซีนโควิดของไทย ตอบสนองดี จ่อศึกษาเชื้อกลายพันธุ์

ผอ.องค์การเภสัชฯ เผยผลทดลองวัคซีนโควิดของไทย ตอบสนองดี จ่อศึกษาเชื้อกลายพันธุ์

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตายในมนุษย์ระยะที่ 1 ของประเทศไทย ว่า การพัฒนาวัคซีน HXP-GPOVac เป็นความร่วมมือระหว่างคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กับ อภ. ซึ่งเริ่มทดลองในอาสาสมัครระยะที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากนั้นได้ส่งตัวอย่างไปตรวจในแล็บที่ได้มาตรฐานจากหลายสถาบัน อาทิ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และแล็บต่างประเทศ

“ผลที่ออกมาเบื้องต้นพบว่า ค่อนข้างดี มีภูมิคุ้มกันตอบสนองได้ดี เป็นที่น่าประทับใจมาก ทั้งนี้ ผลการศึกษาในระยะที่ 1 จะออกมาอย่างเป็นทางการออกมาในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ และจะเร่งดำเนินการศึกษาวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 2 ต่อไปในเดือนสิงหาคม โดยกลุ่มอาสาสมัคร 250 คน กับ วัคซีนโควิด-19 ที่คัดเลือกมา 2 สูตร จาก 5 สูตร ที่ใช้ในการศึกษาระยะที่ 1 ดังนั้น การศึกษาในระยะที่ 2 ก็จะคัดเลือกให้เหลือแค่ 1 สูตร เพื่อศึกษาต่อในระยะที่ 3 ต่อไป”ผู้อำนวยการ อภ.กล่าว

นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกชนิด ตั้งต้นพัฒนามาจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์อู่ฮั่น ซึ่งวัคซีน HXP-GPOVac ก็เป็นการทดลองกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่ใช้เทคโนโลยีล็อกโปรตีนไวรัส 6 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นที่มีการล็อกโปรตีนไวรัส 2 ตำแหน่ง ซึ่งการล็อกตำแหน่งโปรตีนหลายจุดนั้น จะทำให้ร่างกายจดจำเชื้อได้หลากหลายกว่า สร้างภูมิคุ้มกันได้กว้างกว่า

Advertisement

“และผลการทดสอบของเราที่ออกมา ก็พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นดีมาก และเมื่อนำมาทดสอบกับสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ก็ให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี ภูมิคุ้มกันไม่ได้ลดลงมากนัก ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบกับสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) และสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) และส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อดูว่าวัคซีนตอบสนองกับสายพันธุ์ใดบ้าง สำหรับเทคโนโลยีนี้ ในรุ่นต่อไปจะมีการเปลี่ยนหัวเชื้อ เปลี่ยนเชื้อต้นแบบ ซึ่งอาจจะมีการนำเชื้อหลายสายพันธุ์มารวมกัน เอาสไปรท์โปรตีนของแต่ละสายพันธุ์รวมกัน ซึ่งวัคซีนทุกชนิดจะมีแอนตี้เจนนิก ชิพ (Antigenic shift) ที่ลดลงทุกตัว เพราะเชื้อไวรัสมันเปลี่ยน แต่วัคซีนทุกยี่ห้อก็มีการปรับตัวในวัคซีนรุ่นต่อไป” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงด้านความปลอดภัยในกลุ่มอาสาสมัครระยะที่ 1 นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและกลุ่มอาสาสมัครเองก็ปลอดภัย อยู่ในเกณฑ์ดีหมดทุกคน อาจมีบางรายที่ตั้งครรภ์และออกจากการศึกษาไป และยังไม่มีผู้ที่แพ้วัคซีนรุนแรง

Advertisement

ทั้งนี้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ อภ.ศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย HXP-GPOVac ได้มีการแถลงข่าวการเริ่มทดลองฉีดวัคซีนในคนระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 โดยมี ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการทดสอบวัคซีน และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าวพร้อมให้รายละเอียดในการทดลองวัคซีนในคนระยะที่ 1 ว่าเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่มีประวัติติดเชื้อโควิดมาก่อน ไม่มีการตั้งครรภ์ จำนวน 210 คน อายุ 18-59 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image