สธ.ห่วงโควิดพันธุ์เดลต้า-เบต้า พบเพิ่ม กระจายทั่วอีสาน-ใต้ กทม. ในกรุงอ่วมมากสุด

สธ.ห่วงโควิดพันธุ์เดลต้า-เบต้า พบเพิ่ม กระจายทั่วอีสาน-ใต้ กทม. ในกรุงอ่วมมากสุด

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวสถานการณ์เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ในประเทศไทย ว่า การเก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.2564 พบสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย จะเห็นว่า สัดส่วนสายพันธุ์เริ่มเปลี่ยนแปลง สายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) สัปดาห์วันที่ 13 มิ.ย. พบ 9.76% สัปดาห์วันที่ 13-20 มิ.ย. เพิ่มเป็น 10.43% และสัปดาห์ที่ 20-27 มิ.ย. เป็น 12.30% ขณะที่ สายพันธุ์เบต้า(แอฟริกาใต้) เพิ่มขึ้นช้าๆ จาก 0.61% เป็น 1.39% ส่วนใหญ่พบใน จ.นราธิวาส

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า แยกพื้นที่ระหว่างกรุงเทพมหานคร(กทม.) และภูมิภาค พบว่า ภาพรวมของ กทม. สายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) เพิ่มขึ้นจาก 23.67% เป็น 25.66% ขณะที่ในภูมิภาค เพิ่มจาก 2.58% เป็น 5.05% นั่นหมายความว่าสายพันธุ์เดลต้ามีสัดส่วนมากขึ้น(Market share) ซึ่งทำให้เราเข้าใจว่าในต่างจังหวัด กว่า 90% ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า(อังกฤษ) ส่วนพันธุ์เดลต้าพบบ้าง แต่พบชุกชุมในกทม.

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ภาพรวมทั้งประเทศ สายพันธุ์เดลต้า อัตราเฉลี่ยสะสม 12.30% แต่ข้อมูลเฉพาะในสัปดาห์นี้ สัดส่วนของสายพันธุ์เดลต้า ขยับมาอยู่ที่ 16.59% และเพิ่มเยอะที่สุดคือ กทม. คิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งหมด ส่วนภูมิภาคเดลต้าขยับเพิ่มเป็น 7.34%

Advertisement

 

“หากอัตรายังเป็นอย่างนี้ เราคาดว่าอีก 2-3 เดือน สายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย)ในกทม. อาจจะมากกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า(อังกฤษ)เดิม” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ข้อมูลสัปดาห์นี้ พบสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) เพิ่ม 459 ราย รวมเป็น 1,020 ราย สายพันธุ์เบต้า(แอฟริกาใต้) เพิ่มอีก 89 ราย สะสม 127 ราย

Advertisement

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ข้อมูลสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) ที่พบเพิ่มในสัปดาห์นี้ 459 ราย ได้แก่ กทม. 331 ราย ส่วนใหญ่พบในแคมป์แรงงาน , นครสวรรค์ 11 ราย , พระนครศรีอยุธยา 7 ราย , กาฬสินธุ์ 6 ราย , อุดรธานี 23 ราย , สกลนคร 22 ราย , เลย 20 ราย , หนองบัวลำภู 12 ราย , พะเยา เพชรบูรณ์ ชลบุรี มหาสารคาม จังหวัดละ 1 ราย , อุทัยธานี หนองคาย จังหวัดละ 2 ราย , ขอนแก่น ร้อยเอ็ด นครพนม 3 ราย และ อุตรดิตถ์ บึงกาฬ จังหวัดละ 4 ราย

สังเกตได้ว่าเขตสุขภาพที่ 8 มีเกือบครบทุกจังหวัด ข้อมูลส่วนใหญ่พบว่า คนจากกทม. เช่น แคมป์คนงาน เดินทางกลับบ้าน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลพยายามเข้าไปควบคุมดูแล เพราะข้อมูลทำให้เห็นว่ามีการกระจายนอกจากสายพันธุ์อัลฟ่า ยังมีสายพันธุ์เดลต้าไปด้วย

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า น่าสังเกตอีกว่า เดิมภาคใต้ไม่มีสายพันธุ์เดลต้า แต่วันนี้เราพบที่ นราธิวาส 2 ราย จากการสอบสวนโรคพบว่า เป็นผู้ที่เข้ามาจากรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะที่สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) เพิ่มขึ้นมา 89 รายในสัปดาห์นี้ เป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 1 ราย ยังมีรอผลตรวจอีก 3 ราย นราธิวาส 84 ราย ส่วน ยะลา 2 ราย พัทลุง 1 ราย เชื่อมโยงคลัสเตอร์โรงเรียนแห่งหนึ่งในภาคใต้ และ กทม. 1 ราย ซึ่งเป็นที่น่าสนใจของประชาชน แต่ย้ำว่า ไม่ได้เป็นการเจอจากในพื้นที่ กทม. การสอบสวนโรคพบว่า ผู้ติดเชื้อใน กทม. เป็นลูกจ้างในตลาดแห่งหนึ่ง โดยลูกชายจากนราธิวาส เดินทางมาเยี่ยม ในขณะที่เดินทางมาถึงยังไม่มีอาการ แต่เมื่อกลับไปที่นราธิวาสเริ่มไม่สบายแล้วไปตรวจพบเชื้อ จะมีการสอบสวนโรคมาที่ครอบครัวใน กทม.พบว่า พ่อติดเชื้อเช่นกัน ในขณะที่ญาติก็ติดเชื้อเช่นกันและอยู่ในระหว่างการถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนเพื่อนร่วมงานอีก 6-7 ราย ไม่พบเชื้อ จึงสันนิษฐานได้ว่าผู้ป่วย 1 รายใน กทม.ติดเชื้อมาจากลูกชายที่มาเยี่ยม แม้ขณะที่ไม่มีอาการแต่ก็สามารถแพร่เชื้อได้

“ขณะนี้พบ 1 ราย เรายังล็อกได้อยู่ ซึ่งก็อาจจะหายไป ไม่พบเพิ่มในสัปดาห์หน้า แต่เนื่องจากเราไม่ได้ห้ามการเดินทางของคนในประเทศ จึงมีโอกาส ข้อเท็จจริงของสายพันธุ์เบต้า คือ อำนาจการแพร่กระจายไม่ค่อยมาก ยกเว้นในกลุ่มที่ใกล้ชิดกันจริงๆ เช่นเดียวกับสถานการณ์ของโลกที่ยังพบสายพันธุ์เบต้าไม่มาก ดังนั้น เราจึงกังวลคือสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ที่กำลังคืบคลาน และมีสัดส่วนมากขึ้น” นพ.ศุภกิจกล่าวว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image