เปิดแผนดูแลป่วยโควิด-19 รูปแบบชุมชน หมอ-ปชช.ร่วมมือ

เปิดแผนดูแลป่วยโควิด-19 รูปแบบชุมชน หมอ-ปชช.ร่วมมือ

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้าน เอชไอวี (IHRI) กล่าวถึงความร่วมมือในการทำมาตรการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มอาการสีเขียวในชุมชน (Community Isolation) ว่า ที่ผ่านมา เครือสภากาชาดไทย ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ อาทิ เครือข่าย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ น.ส.สุภัทรา นาคาศัย ผู้อำนวยการมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เป็นต้น โดยนำรูปแบบมาจากการดูแลการ และเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในกลุ่มคนทำงานกลางคืน สาวประเภทสอง ชายรักชาย เครือข่ายสลัม 4 ภาค มาเป็นตัวตั้ง เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 จึงนำเอามาปรับใช้ เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เตียงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในชุมชนที่มีคนหลากหลาย ทั้งคนไทย และแรงงานต่างด้าว

พญ.นิตยา กล่าวว่า สำหรับมาตรการดูแลผู้ติดเชื้อในชุนชมนั้น เมื่อเจอผู้ติดเชื้อในชุมชน เครือข่ายซึ่งมีทีมแพทย์ พยาบาลร่วมด้วยนั้นจะไปหาแกนนำในชุมชน เพื่อให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องจริงๆ สำหรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 มีการจัดตั้งทีมดูแล (Care) จัดลำดับ ความสำคัญของกลุ่มอาการ สีเหลือง สีแดงก็ประสานเข้า รพ. ถ้าสีเขียว ก็ดูว่าหากผู้ติดเชื้อที่อยู่บ้านคนเดียว หรือหากติดทั้งครอบครัวก็ให้ดูแลตัวเองที่บ้าน (Home isolation) ได้ หากครอบครัวใดที่ติดเพียงคนเดียว แล้วยังไม่มีโรงพยาบาลรับไป ก็จะจัดพื้นที่ในชุมชนให้เป็นศูนย์พักคอย ในรูปแบบคอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น (Community Isolation) เช่น ศูนย์เด็กเล็ก หอประชุมโรงเรียน เป็นต้น

“มีการส่งเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด และปรอทวัดไข้ แล้วทีมพยาบาลติดตามอาการติดตามวันละ 2 ครั้ง ขณะเดียวกัน ชุมชนก็จะทำในสิ่งที่เขาพอทำได้ เช่น ช่วยดูออกซิเจน แต่สิ่งที่อยากจะขอให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติมคือ การส่งรถเอกซเรย์ปอดเคลื่อนที่มาดูแล คอยเช็กสภาพปอดของผู้ติดเชื้อด้วยเพราะเรายังกังวลเรื่องปอดอักเสบเงียบๆ ถ้าเราตรวจเจอแล้วยังไม่มีเตียงก็ต้องมีการจัดส่งยาฟาวิพิราเวียร์มาให้ด้วย เพื่อลดการเสียชีวิตที่บ้านนอกจากจัดลำดับกลุ่มอาการแล้ว ก็จะทำให้สามารถจัดลำดับกลุ่มเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำเพื่อให้ได้รับการดูแลที่ตรงจุด ใครควรตรวจก่อนตรวจหลัง เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากที่สุด” พญ.นิตยา กล่าว

พญ.นิตยา กล่าวว่า นอกจากความพยายามในการค้นหาเคสให้เจอเร็วเพื่อยุติการระบาดนั้น ยังมีการพูดถึงเรื่องของวัคซีนป้องกัน หากมาตรการที่เราทำอยู่ยังหยุดการระบาดไม่ได้ จะต้องมีวัคซีนลงมาให้เร็วที่สุด ให้ประชากรครบทั้งชุมชน ไม่ควรเลือกแล้วว่าจะฉีดแค่ร้อยละ 20 หรือกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องเป็นการฉีดให้ครบทุกคนและต้องเป็นวัคซีนที่ให้ภูมิขึ้นเร็วคือ แอสตร้าเซนเนก้า ถ้าชุมชนทำได้แบบนี้ ชุมชนนั้นก็จะยุติการติดเชื้อใหม่ได้มากที่สุด และลดการตายได้

Advertisement

“เดิมที่เราก็กึ่งดำเนินการอยู่แล้ว กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา มีคนที่ติดต่อเข้ามาประมาณ 300 กว่าคน มีเคสโควิด-19 จริงๆ 200 คน อีก 80-100 คนเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็มีการทำงานประสานกันแบบนี้ จนกระทั่งรู้สึกว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเคสเยอะเหลือเกิน จึงถึงจุดที่ทุกคนรู้แล้วว่ามันไปต่อไม่ได้ ก็เลยมีการหารือร่วมกันทั้งกรมการแพทย์และกลุ่มของเราและภาคประชาชนมาคุยร่วมกัน และทำอย่างจริงจัง” พญ.นิตยา กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image