แพทย์ยันปชช.ทั่วไปยังไม่ต้องฉีดเข็ม 3 จ่อวัคซีนบูสเตอร์บุคลากรแพทย์ด่านหน้ากว่า 7 แสนคน

แพทย์ยันปชช.ทั่วไปยังไม่ต้องฉีดเข็ม 3 จ่อวัคซีนบูสเตอร์บุคลากรแพทย์ด่านหน้ากว่า 7 แสนคน

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร รองประธานคณะที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19)(ศบค.) ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อรับครบ 2 เข็มแล้ว ว่า แม้ส่วนใหญ่ภูมิต้านทานจะขึ้น แต่ใน 3-6 เดือน ก็จะลดลง ขณะนี้ นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด พบว่า ภูมิต้านทานที่มีอยู่จะลดลงครึ่งหนึ่ง (Half-life) จะใช้เวลาเฉลี่ย 3-4 เดือน ดังนั้น เมื่อลดลงครึ่งหนึ่ง ก็อาจป้องกันไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ภูมิต้านทานไม่สูงมาก จึงเป็นเหตุผลในการบูสเตอร์ โดส (Booster dose) ซึ่งไม่อยากพูดว่าเข็ม 3 เพราะตอนนี้ ยังไม่มีแนวทางที่เป็นทางการจากองค์การอนามัยโลก หรือจากประเทศใดๆ ว่าจะต้องฉีดเข็มที่ 3 ขณะนี้จึงยังเป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น

นพ.อุดม กล่าวว่า ขณะนี้มีเพียง 2 ประเทศ ที่มีการฉีดเข็ม 3 คือ ยูเออี หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรต และ บาเรห์ มีการศึกษาคนที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 แต่เป็นวัคซีนซิโนฟาร์ม เพราะเขาหาชนิดอื่นไม่ได้ แต่กระตุ้นไม่ได้มาก เพราะข้อมูลที่มีอยู่หากจะกระตุ้นให้มาก จะต้องเป็นการฉีดวัคซีนต่างแพลตฟอร์ม อย่าง ซิโนแวคและซิโนฟาร์ม เป็นชนิดเชื้อตาย ต้องกระตุ้นด้วยแพลตฟอร์มอื่น เช่น ไวรัลเวกเตอร์ จากแอสตร้าเซนเนก้า หรือ mRNA จากไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ดังนั้น ข้อมูลในส่วนนี้มีน้อยมาก ยังไม่มีประเทศไหนที่ฉีดเข็ม 3 อย่างป็นทางการ แต่ต้องเน้นการฉีดเข็ม 1 และ 2 ให้ได้ก่อน ซึ่งต้องยอมรับวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค ฉีดเข็มที่ 2 ครบก็ป้องกันได้น้อย แต่สามารถป้องกันตายได้ ซึ่งก็คุ้มค่ามากแล้ว

“นอกจากนี้ สำหรับคนทั่วไปที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้วไม่ว่าชนิดไหน ที่จะไปจองเข็ม 3 ชนิด mRNA เนื่องจากกรณีที่ฉีดซิโนแวค พบว่าภูมิคุ้มกันจะลดลงประมาณครึ่งหนึ่งช่วง 3-4 เดือน หลังฉีดเข็มที่ 2 แล้ว ส่วนคนฉีดแอสตร้าฯ ค่าดังกล่าวจะลดลงในช่วง 6 เดือน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องไปจองวัคซีนชนิด mRNA เพื่อมาฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพราะหากดูการทิ้งห่างของเข็ม 2 และเข็ม 3 จะได้วัคซีนรุ่นเก่า จึงอยากให้รอวัคซีนรุ่นใหม่ที่เร็วสุดปลายปีนี้หรือปีหน้า ซึ่งจะครอบคลุมสายพันธุ์และปลอดภัยมากขึ้น” นพ.อุดมกล่าว และว่า องค์การอนามัยโลก ยังแนะนำให้ฉีดเข็ม 1 และ 2 เป็นวัคซีนจากยี่ห้อเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสนของผลข้างหลังรับวัคซีนด้วย

นพ.อุดม กล่าวว่า ในส่วนประเทศไทยกำลังศึกษาทั้งเข็มกระตุ้น การสลับชนิดวัคซีน สธ. ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ ทั้งศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาเรื่องนี้ คาดว่า 1 เดือน จะทราบผล จะเป็นการศึกษาแรกๆ ของโลกในการกำหนดเป็นแนวทางให้เข็มที่ 3 อย่างไรก็ตาม ย้ำว่ายังไม่ใช่ในคนทั่วไป เบื้องต้นมีการพิจารณาและเสนอว่า เมื่อต้องมีการใช้บูสเตอร์ โดส ต้องให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 7 แสนคน และมีจำนวนหนึ่งฉีดครบ 2 เข็ม มาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ต้องได้รับก่อน หลังจากนั้น จะเป็นกลุ่มเสี่ยงรองลงมาคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

Advertisement

นพ.อุดม กล่าวว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่กำลังคิดรุ่นใหม่อยู่ ซึ่งการประชุมเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.64) กรรมการตกลงกันชัดเจนว่า ตั้งคณะทำงาน เอาผู้เชี่ยวชาญทั้งประเทศมาดูว่า วัคซีนรุ่นใหม่ตัวไหนที่มีแนวทางที่ดี ได้ผลดี เพื่อให้เรารีบไปจองก่อน เพราะอย่างน้อยที่จะออกมาเร็ว ก็คือต้นปีหน้า ดังนั้น เป็นการเตรียมการล่วงหน้า สธ. เราทำในส่วนนี้ ซึ่งที่ผ่านมา เราไม่ได้พูด ซึ่งในวันที่ 9 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมหารือเรื่องการฉีดวัคซีนไขว้ชนิด และจะมีการแถลงรายละเอียดที่ รพ.ราชวิถี

เมื่อถามว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมา 3-6 เดือน จะต้องให้วัคซีนกระตุ้นอย่างไร นพ.อุดม กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีแอสตร้าฯ และกำลังรอวัคซีน mRNA คือ ไฟเซอร์ที่จะมา 1.5 ล้านโดส ดังนั้น กรณีบุคลากรฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม การจะให้บูสเตอร์โดสต้องไปต่างชนิด อาจเป็นแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ แต่แนวทางขอให้รอผลการศึกษาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่นาน ขอให้ติดตามข้อมูล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image