อุทยานฯ สั่งตรวจสอบ ปากท้องชาวบางกลอย แก้ไขปัญหา “คนกับป่า” อย่างครอบคลุม

อธิบดีกรมอุทยานฯ สั่งตรวจสอบสิทธิสาธารณสุข ปากท้องชาวบางกลอย ช่วยเด็กได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี โดยใช้สิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ยืนยันเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหา “คนกับป่า” อย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยคำนึงถึงด้านความมั่นคงของชีวิต ในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเดือดร้อนของชาวบางกลอย ซึ่งเป็นเด็กวัย 3 เดือน พิการมาตั้งแต่กำเนิด ไม่สามารถกินนมได้ ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลมาโดยตลอด ไม่อยู่กับแม่เนื่องจากร่างกายแม่ไม่แข็งแรงนั้น จากการตรวจสอบเด็กตามข่าว คือ เด็กชายยศกร บุญมี (วัย 3 เดือน) พ่อและแม่ของเด็ก คือ นายเซาะเคาพอ บุญมี เลขประจำตัวประชาชน 576080000xxxx และนางสาวที้โอะมื่อ ลาเดาะ เลขประจำตัวประชาชน 576080000xxxx อยู่บ้านเลขที่ 48 บ้านโป่งลึก หมู่ที่ 2 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ทั้งนี้ พ่อและแม่ของเด็กชายยศกรฯ เป็นญาติกับเจ้าหน้าที่ อช.แก่งกระจาน ชื่อนางสาวกรรวีศศิร์ ลาเดาะ (มีฐานะเป็นน้าของเด็กชายยศกรฯ) และทั้งหมดพักอาศัยอยู่ในบ้านพักของนางสาวกรรวีศศิร์ฯ เจ้าหน้าที่ อช.แก่งกระจาน มาตั้งแต่ก่อนคลอดบุตรจนถึงปัจจุบัน นายเซาะเคาพอ บุญมี มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และถือครองที่ดินที่ได้รับการสำรวจถือครอง ตามมาตรา 64 แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ 11.39 ไร่ ส่วนนางสาวที้โอะมื่อ ลาเดาะ เป็นแม่บ้านคอยดูแลลูกซึ่งมีจำนวนหลายคน ขณะนี้เด็กชายยศกร บุญมี ได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี โดยใช้สิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐในเรื่องค่ารักษาพยาบาล

Advertisement

 

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่าปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแก่งกระจาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี สถานีพัฒนาที่ดินเพชรบุรี สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 7 สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เข้าไปดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

Advertisement

“ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหา “คนกับป่า” อย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยคำนึงถึงด้านความมั่นคงของชีวิต ในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ตาม มาตรา 64 แห่ง ด้านการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ ตามมาตรา 65 แห่ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 นับตั้งแต่มีปัญหาพิพาท เมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นมา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่เคยมีมาตรการปิดกั้นความช่วยเหลือต่อชาวบ้านบางกลอย มีหน่วยงาน/องค์กร/ภาคประชาชน เข้ามาประสานให้ความช่วยเหลือในหลายด้านทั้งการบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องใช้ การพัฒนาพื้นที่เกษตร น้ำดื่ม น้ำใช้ การสาธารณสุข การป้องกันโรคระบาด (โควิด 19) หรือแม้กระทั่ง การช่วยเหลือทางกฎหมาย วิชาการ ข่าวสารสื่อแขนงต่าง ๆ รวมถึงการพึงพิงทรัพยากรธรรมชาติ เก็บหาของป่า เป็นต้น” นายธัญญา กล่าวและว่า

สำหรับเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง จะต้องตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ หากราษฎรต้องการความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การละเว้นหรือกระทำผิดกฎหมาย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยินดีให้ความร่วมมือและช่วยเหลือตลอดเวลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image