อย.เผยไทม์ไลน์ ‘แรพิด เทสต์’ แบบโฮมยูส รอ กก.โรคติดต่อฯเคาะ-อนุทินลงนาม ปชช.ใช้

อย.เผยไทม์ไลน์ ‘แรพิด เทสต์ โฮม ยูส’ รอ กก.โรคติดต่อฯเคาะ-อนุทิน ลงนาม ปชช.ใช้

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีแนวคิดจะให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง โดยใช้ ชุดตรวจแอนติเจน หรือแรพิด แอนติเจน เทสต์ (Rapid Antigen Test) ซึ่งเป็นชุดทดสอบอย่างง่ายและรู้ผลในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ในภาวะที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และจำเป็นต้องรีบนำเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โดยปกติชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ เป็นการตรวจแบบสวอบคล้ายๆ วิธีอาร์ที-พิซีอาร์ (RT-PCR) โดยก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้เฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ที่เรียกว่า โปรเฟสชั่นนอล ยูส (Professional Use) ซึ่ง อย.อนุญาตให้บริษัทจำนวน 24 ยี่ห้อ โดยบริษัทผู้ผลิตและนำเข้าจะจำหน่ายให้สถานพยาบาล ทั้งรัฐและเอกชน หรือคลินิก เทคนิคทางการแพทย์

“ล่าสุดกำลังจะปรับรูปแบบการใช้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น โดยเรียกว่า แรพิด แอนติเจน เทสต์ แบบ โฮม ยูส (Home Use) สามารถใช้ทดสอบด้วยตนเอง ซึ่งแบบโปรเฟสชั่นนอล ยูส อย.อนุมัติ 24 ยี่ห้อ แต่การจะเปลี่ยนโปรเฟสชั่นนอล ยูส ให้ประชาชนใช้ได้เอง ต้องมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสม เนื่องจากเดิมแบบ โปรเฟสชั่นนอล ยูส ต้องแยงจมูกที่ลึก แต่เมื่อเป็นแบบประชาชนใช้ตรวจเอง อาจไม่ต้องแยงลึกมาก หรืออาจใช้น้ำลาย

“ตรงนี้จะมีแนวทาง มีคู่มือแนะนำจาก 24 บริษัท ขณะนี้มีการปรับรูปแบบการใช้ ประมาณ 6 บริษัท และมีการพิจารณาเพิ่มเติมอีก คาดว่าประมาณ 6-7 บริษัท แต่เมื่อ สธ.มีประกาศออกมา น่าจะมีเพิ่มเติมมาอีก” นพ.ไพศาลกล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจดังกล่าวได้แล้วหรือไม่ นพ.ไพศาลกล่าวว่า กฎหมายยังไม่ออกมา แต่โดยหลักการในเรื่องนี้ได้มีการประชุมหารือไปแล้วในการประชุมคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณา จากนั้นเหลือเลขาธิการ อย.ลงนาม และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ. ลงนามในวันพรุ่งนี้ (12 กรกฎาคม) หลังจากนั้นรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

เมื่อถามว่า แนวทางการใช้ต้องมีข้อปฏิบัติอย่างไร เนื่องจากชุดตรวจดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องความแม่นยำ นพ.ไพศาลกล่าวว่า ขณะนี้มีการหารือเรื่องนี้ เพราะมีความเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะมีการประชุมเรื่องนี้ในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้เช่นกัน

“เบื้องต้น สิ่งสำคัญขอย้ำว่า ณ ขณะนี้ยังขายให้ประชาชนไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่ได้ออกมาบังคับใช้ เนื่องจากการใช้ชุดตรวจดังกล่าวจะมีคู่มือแนะนำประชาชน เพราะการตรวจวิธีนี้เป็นเพียงผลเบื้องต้น ซึ่งจะเหมาะสมกับผู้ที่มีเชื้อในปริมาณมาก โดยหากตรวจพบเชื้อก็ต้องเข้าสู่ระบบรองรับที่ สธ.จัดเตรียมไว้ แต่ไม่ว่าอย่างไร เมื่อพบผลบวกก็ต้องตรวจซ้ำด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) จากนั้นจะเข้าสู่ระบบการรักษาแบ่งตามกลุ่มอาการ

Advertisement

“อย่างอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการจะเข้าสู่ระบบโฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) หรือระบบอื่นๆ ที่ สธ.จัดรองรับไว้ แต่หากผลการตรวจออกมาเป็นลบ ประชาชนที่ทำการตรวจต้องพิจารณาด้วยว่า ตนเองมีประวัติเสี่ยงหรือไม่ หากมีหรือสงสัยก็ต้องกักตัว และตรวจซ้ำ อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินงานจะมีการเข้าสู่คณะกรรมการโรคติดต่อฯต่อไป” นพ.ไพศาลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image