หมอชี้โควิดเดลต้าคลุมทั่วไทย แพร่ง่าย-เร็ว หาไทม์ไลน์ยาก เตือนปชช.เข้มแมสก์ เว้นระยะ

หมอยงชี้โควิดเดลต้าคลุมทั่วไทย แพร่ง่าย-เร็ว หาไทม์ไลน์ยาก เตือนปชช.เข้มแมสก์ เว้นระยะ

วันนี้ (13 ก.ค.64) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงอัพเดตเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า เดิมสายพันธุ์แอลฟ่า (อังกฤษ) แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์จี ทำให้สายพันธุ์แอลฟ่าครองโลก แต่ต่อมาโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์แอลฟ่า (อังกฤษ) อีก 1.4 เท่า ทำให้ขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า กลบสายพันธุ์แอลฟ่าแล้ว

“ซึ่งปัจจุบัน ในประเทศไทยสายพันธุ์ที่ระบาดขณะนี้ คือ สายพันธุ์เดลต้า โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เป็นสายพันธุ์เดลต้าประมาณ ร้อยละ 70-80 และมีแนวโน้มระบาดทั่วประเทศ ส่วนสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) เป็นสายพันธุ์ที่หลีกหนีวัคซีนเก่งสุด ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดต่ำมาก แต่เนื่องจากเบต้า แพร่กระจายได้น้อยกว่า จึงขึ้นมาเบียดเดลต้าไม่ได้”ศ.นพ.ยง กล่าวและว่า ขณะนี้เดลต้า จึงพบมากในประเทศไทย และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลต้า ประกอบกับปริมาณเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ยังตรวจพบในลำคอจำนวนมาก ทำให้การแพร่กระจาย การติดต่อจากคนสู่คนง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า อยากให้พี่น้องทุกคนตระหนักว่า การหาไทม์ไลน์การติดต่อสายพันธุ์นี้ จะไล่ตามยากมาก เพราะติดต่อง่าย ดังนั้น ทุกคนต้องปฏิบัติการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย 100% เว้นระยะห่าง สุขอนามัยต้องเต็ม 100% สิ่งนี้ป้องกันดีกว่าวัคซีนทุกวันนี้ ดังนั้น ไม่ว่าจะฉีดแล้วหรือกำลังรอ การปฏิบัติตัวยังต้องทำต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่า คนๆหนึ่งมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ผสม 2 สายพันธุ์ได้ง่ายหรือไม่ ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เป็นไปได้ หากชุมชนนั้นมีไวรัส 2 ตัว ระบาดอยู่

Advertisement

โดยหากเราเกิดไปรับเชื้อจาก นาย ก. ที่รับสายพันธุ์แอลฟ่า ส่วน นาย ข.รับสายพันธุ์เดลต้า ก็มีความเป็นไปได้ที่จะรับไวรัส  2 สายพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติของไวรัส แต่ที่ต้องกลัว คือ หากไวรัส 2 สายพันธุ์นี้ เกิดแบ่งตัวในหนึ่งเซลล์เดียวกัน และอาจมีแลกชิ้นส่วน จะเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่โคโรนาไวรัสที่ระบาดมา 1 ปีครึ่ง การแยกชิ้นส่วนแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า รีคอมบิเนชั่น (Recombination) ส่วนที่พบปัจจุบันเราเรียกว่า co-infection ซึ่งหมายถึงในผู้ป่วย 1 คนเจอไวรัส 2 ตัว” ศ.นพ.ยง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image