กาชาดไทยยันวัคซีนโมเดอร์นา 1 ล้านโดส มาไตรมาส 4 เร่งฉีด ปชช.กลุ่มเปราะบางฟรี! ห้ามเก็บเงิน-ขายต่อ(มีคลิป)

กาชาดไทยยันวัคซีนโมเดอร์นา 1 ล้านโดส มาไตรมาส 4 เร่งฉีด ปชช.กลุ่มเปราะบางฟรี! ห้ามเก็บเงิน-ขายต่อ

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่อาคารเทิดพระเกียรติ สภากาชาดไทย นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย แถลงชี้แจงด่วนกรณีการได้รับจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ยี่ห้อโมเดอร์นา ชนิด mRNA และแผนการกระจายวัคซีนให้ประชาชน ว่า ตามที่ได้มีกระแสข่าวเรื่อง สภากาชาดไทยจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 1 ล้านโดส โดยจะดำเนินการฉีดให้ฟรีให้กับประชาชนนั้น สภากาชาดไทย ขอเรียนขี้แจงว่า สภากาชาดไทยได้รับการประสานจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า ได้สำรองวัคซีนโมเดอร์นา 1 ล้านโดส ให้แก่สภากาชาดไทย ซึ่งต่อมา สภากาชาดไทยได้มีหนังสือยืนยันการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาภายใต้เงื่อนไขที่ อภ.กำหนด

นายเตช กล่าวว่า ซึ่งคาดว่าสภากาชาดไทยจะได้รับวัคซีนโมเดอร์นา ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 และต้นปี 2565 โดยสภากาชาดไทยมีแผนการที่จะนำวัคซีนโมเดอร์นาไปฉีดให้แก่ประชาชนในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ 2.กลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง 3.สตรีมีครรภ์ และ 4.ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19

“โดยส่วนหนึ่งสภากาชาดไทยจะเป็นผู้ดำเนินการฉีดเอง อีกส่วนหนึ่งส่งต่อให้โรงพยาบาลภาครัฐที่ต้องการฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ และที่เหลือส่งต่อให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งจะต้องดำเนินการฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่สภากาชาดไทยกำหนด รวมทั้ง ต้องจัดทำแผนการฉีดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ลงนามรับรองมายังสภากาชาดไทย จึงจะจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาให้ ” นายเตช กล่าวและว่า ทั้งนี้ หน่วยงานที่รับวัคซีนโมเดอร์นาตามที่สภากาชาดไทยจัดสรร ต้องนำวัคซีนไปฉีดโดยไม่คิดมูลค่า และห้ามจำหน่ายต่อ และขอเชิญชวนบริจาคให้แก่ “กองทุนกาชาด เพื่อการจัดซื้อวัคซีน และยาโควิด-19 สำหรับประชาชน”

Advertisement

นอกจากนี้ นายเตช กล่าวว่า ในประเทศไทยมีผู้ด้อยโอกาสประมาณ 11 ล้านคน ใน 77 จังหวัด ต้องขอความเห็นใจว่า สภากาชาดฯ ไม่ได้เป็นรัฐ เป็นเพียงองค์การกุศลหนึ่งที่ต้องการช่วยเหลือประชาชน เท่าที่มีขีดความสามารถ และงบประมาณก็มีจำกัด จะต้องพยายามหางบประมาณมาช่วยเท่าที่จะทำได้

ผู้สื่อข่าวถามถึงการประสานงานของสภากาชาดฯ เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร นายเตช กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นที่จะมีวิกฤตระลอกที่ 3 สภากาชาดฯ ได้รับมอบหมายให้หาวัคซีนทางเลือก ซึ่งมีหลายสาย ปรากฎว่า ทางบริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะดำเนินการเจรจากับรัฐบาล หรือองค์การที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลเท่านั้น และต้องเป็นองค์การเดียว ซึ่งบริษัทที่ก้าวหน้าที่สุดขณะนั้น คือ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา ที่เป็นตัวแทนในประเทศไทยของบริษัท โมเดอร์นา

“การเจรจาวัคซีนที่ต้องผ่านองค์การของรัฐเท่านั้น เพราะมีนัยยะทางกฎหมายว่าใครจะรับผิดชอบ เพราะยังเป็นบัญชียาในภาวะฉุกเฉิน หากมีการล้มป่วย ไม่สบายขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบทางกฎหมาย เขาจึงให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการสั่งเข้ามา แต่ที่จริงแล้ว สายหนึ่งที่ของสภากาชาดฯ ก็ได้ติดต่อและจองกับบริษัท ซิลลิคฯ มาตั้งแต่ต้น แม้ว่าตอนนั้นโมเดอร์นายังไม่ได้รับทะเบียนจาก อย.ไทย แต่ก็ขอจองไว้ประมาณ 1 ล้านโดส ซึ่ง อภ.ก็รับทราบว่าเราเจรจาไว้ก่อนแล้ว และเมื่อ อภ.สามารถเจรจากับบริษัท ซิลลิค ได้ 5 ล้านโดส อภ. ก็เลยกัน 1 ล้านโดส ให้สภากาชาดไทย เราไม่ได้ไปแย่งจากใครมาทั้งสิ้น” นายเตช กล่าว

Advertisement

เมื่อถามถึงขั้นตอนการจองวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดฯ ของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่าย นายเตช กล่าวว่า สภากาชาดฯ ได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้บริจาคมาที่กองทุนกาชาด เพื่อการจัดซื้อวัคซีน และยาโควิด-19 สำหรับประชาชน เชิญชวนให้บริจาคก่อน โดยจะมีกฎเกณฑ์ว่าจะนำไปฉีดให้ใคร และต้องฉีดโดยไม่คิดเงิน

“เราไม่ได้มีการกำหนดราคาที่แน่นอน เคยดูไว้ที่ 1,200 บาทต่อโดส หรือ 1,100 บาท ซึ่งยังไม่แน่นอน แต่คาดว่า 1-2 สัปดาห์นี้จะทราบตัวเลขที่แน่นอน” นายเตช กล่าว

เมื่อถามอีกว่า หาก รพ.เอกชนมาขอบริจาคเพื่อรับการจัดสรรวัคซีนโมเดอร์นาจากสภากาชาดฯ ได้หรือไม่ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะต้องดำเนินการอย่างไร ได้สัดส่วนเท่าไร นายเตช กล่าวว่า เราก็จะพิจารณากันต่อไป ซึ่งในวันนี้ (16 ก.ค.64) จะมีการหารือกันในช่วงเวลา 13.30 น. รวมถึงเรื่องการจัดสรรวัคซีนให้ อปท.

“เราจะขอว่า ให้ฉีดกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม 1.คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงตั้งครรภ์ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน 2.ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน 3.บุคลากรแพทย์ พยาบาลในถิ่นทุรกันดาร 4.ผู้ทำงานประจำในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาลหรือครู อาจารย์ที่สอนในโรงเรียน และยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 และ 5.บุคลากรที่ต้องปฏิบัติงานสัมผัสประชาชนตามโครงการของ อปท.จังหวัด ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน และบุคคลที่ยังไม่สามารถได้รับวัคซีนโควิด-19 ได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบและกฎหมาย และ อบจ.ต้องทำแผนเสนอการขอรับจัดสรรวัคซีน โดยต้องรับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด” เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image