จุติ ยันรัฐบาลไม่นิ่งดูดาย ‘คนไร้บ้าน’ จัดตรวจเชิงรุก-พาไปฉีดวัคซีนแล้ว

คนไร้บ้าน

จุติ ยันรัฐบาลไม่นิ่งดูดาย ‘คนไร้บ้าน’ จัดตรวจเชิงรุก-พาไปฉีดวัคซีนแล้ว ตามความสมัครใจ เสรีชนบังคับไม่ได้ ยันมาตรการที่มีเข้มข้น ด้านมูลนิธิอิสรชน ห่วงสังคมเหมารวมคนไร้บ้านแพร่โควิด-19

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 2 เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการใช้พื้นที่สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 2 หรือ สสว.2 เพื่อใช้รองรับเป็นจุดพักคอยผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการไม่หนักหรือสีเขียว ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงจัดพื้นที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และดำเนินการอย่างรวดเร็วนั้น พม.ได้บูรณาการกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม จัดตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ซึ่งรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ได้ประมาณ 97 เตียง โดยมีบริการการแพทย์และความปลอดภัยรองรับไว้แล้ว

ถามถึงกรณีคนไร้บ้านป่วยโควิด-19 และเสียชีวิตอย่างอนาถริมถนนถึง 3 ราย เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา พม.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบคนไร้บ้าน จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร นายจุติกล่าวว่า ถือเป็นข่าวน่าเสียใจมาก เชื่อว่าข้าราชการทุกคนไม่อยากให้มีใครต้องเสียชีวิต จริงๆ พม.ได้ดูแลคนไร้บ้านจริงจังและต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจะเห็นว่าปี 2563 ที่ผ่านมา พม.เคยประกาศเชิญชวนคนเหล่านี้เข้าบ้านพักของ พม.มาครั้งหนึ่งแล้ว เที่ยวนี้เชื้อแรงขึ้น ก็ได้เชิญอีก แต่ที่ไม่จบ เนื่องจากคนไร้บ้านไม่ใช่คนขอทานที่เราสามารถบังคับมาได้ เขามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นเสรีชน ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือ ชวนเขามากินข้าว อาบน้ำ ก่อนจะออกไปนอนข้างนอกเหมือนเดิม

“จริงๆ พม.พยายามพาคนไร้บ้านไปสวอป และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคนไร้บ้านมีประมาณ 1 พันกว่าคน เราลงพื้นที่ไปประกาศเชิญชวนคนที่สมัครใจ อย่างสวอปได้คนที่สมัครใจมา 3 ร้อยกว่าคน ส่วนฉีดวัคซีนสมัครใจเข้ามา 2 ร้อยกว่าคน ขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 ร้อยกว่าคน”

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายจุติ กล่าวอีกว่า ในการดำเนินงานกับคนไร้บ้านพบความยากลำบากอีกอย่างคือ ขณะนี้มีคนปรารถนาดีเอาอาหารและเงินไปแจกตามจุดที่เขานอน เขาจึงไม่ต้องการย้ายออกมาอยู่กับ พม. ขณะเดียวกันในพื้นที่กรุงเทพฯ มีประชาชนแฝงเยอะ คือ คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานอิสระ คนเหล่านี้เสมือนนินจา เวลาจะช่วยเหลือหรือติดตามจึงยาก อย่างที่เสียชีวิต 3 ราย คนแรกมาจากภาคใต้ มาทำงานในกรุงเทพฯ คนที่สองภาคอีสาน และคนที่สามภาคตะวันออก เราเข้าไม่ถึงเขา บางทีเจอตัวแต่เขาปฏิเสธความช่วยเหลือ เพราะต้องการอิสระ แต่บอกได้เลยว่ารัฐบาลไม่เคยนิ่งดูดาย

Advertisement

ถามถึง พม.จะเพิ่มมาตรการให้เข้มขึ้นกว่านี้อีกหรือไม่ นายจุติ กล่าวว่า จริงๆ มาตรการที่มีตอนนี้เข้มข้นอยู่แล้ว อย่างปัจจุบันมีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 4 พันคน แบ่ง 50 เขต เหลืออยู่เขตละ 80 คน ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับ กทม. กระทรวงสาธารณะสุข และล่าสุดที่จะมีทหารเข้าไปประจำแต่ละเขตอีก

ถามถึงสถานการร์คนไร้บ้านมากขึ้นหรือไม่ นายจุติกล่าวว่า ตอนนี้คนไร้บ้านเยอะขึ้น แต่จริงๆ ในส่วนที่ไม่ได้เป็นเจ้าประจำ กลับบ้านต่างจังหวัดแล้วก็เยอะ บางคนไม่ใช่คนเร่ร่อน เขาเพียงมาทำงาน ไม่มีตัวตน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องอดทน พม.และภาครัฐ ภาคประชาสังคม ก็จะช่วยกันดูแลต่อไป

ส่วน นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ซึ่งทำงานช่วยเหลือคนเร่ร่อนย่านถนนราชดำเนิน กล่าวว่า คนไร้บ้าน 3 รายที่เสียชีวิต 2 ใน 3 อยู่พื้นที่ถนนราชดำเนิน รายแรกเป็นคนเร่ร่อนบริเวณหน้าวัดบวร คอยช่วยงานวัดและรับประทานอาหารแจกจากวัด ส่วนอีกคนเป็นคนเร่ร่อนหน้าอาคารศึกษาภัณฑ์ คนนี้เป็นคนเร่ร่อนหน้าใหม่ ซึ่งคนนี้เพิ่มได้รับถุงปันสุขจากมูลนิธิ

Advertisement

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนเร่ร่อนตายริมถนน จริงๆ มีทุกปี แต่ตายแล้วไม่มีใครมาสนใจ อย่างตายเพราะฮีทสโตรก แต่ตอนนี้คือตายเพราะโรคระบาดและความล้มเหลวของรัฐ ซึ่งอนาถกว่านั้นคือ ศพที่ถูกรอนาน ตั้งแต่เช้าจนเย็น”

นางอัจฉรากล่าวอีกว่า ถ้าพูดถึงการทำงานหน่วยงานของรัฐ ในส่วนกระทรวง พม.แม้จะมีข้อผิดพลาดเรื่องการเยียวยาต่างๆ แต่ก็มีความพยายามเรื่องการจัดตรวจเชิงรุก แม้จะมีคำถามว่าตรวจแล้วไปไหนต่อ เพราะตรวจแล้วไปรักษาก็ไม่ได้ จะนำผลตรวจไปยืนยันสมัครงานก็ไม่มีงานให้ทำ ขณะที่ กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ มีอำนาจเต็ม มีวัคซีนในสต็อก ทั้งที่วัคซีนคือคำตอบ ทำไมยังเกียร์ว่าง ทั้งนี้ เราเคยเสนอให้ กทม.เปิดสวนสาธารณะให้คนไร้บ้านไปอยู่ชั่วคราวก่อน ตามจุดที่คนไร้บ้านอยู่กันมากๆ สามารถตรวจคัดแยกและส่งรักษาได้ รวมถึงการจัดรถโมบายลงฉีดวัคซีนตามจุดที่คนไร้บ้านอยู่กันมากๆ ลงไปตามชุมชนแออัดให้ทั่วถึง

คนไร้บ้าน
คนไร้บ้าน
คนไร้บ้าน

“คนไร้บ้านที่เหลืออยู่เขาก็กังวลนะ เวลามีเพื่อนๆ มาตายอย่างนี้ แต่กังวลแล้วยังไงต่อ ลำพังคนทั่วไปยังไม่มีทางเลือกเลย คนไร้บ้านยิ่งไม่มีทางเลือก และต้องอยู่ต่อไป แต่ที่ดิฉันรู้สึกกลัวเลยก็คือ กระแสที่สังคมจะมองคนเร่ร่อนว่าติดโควิดกันทั่ว ซึ่งจริงๆ คนเร่ร่อนอยู่ในที่โล่งมากกว่าที่อับ โอกาสติดเชื้อกันจึงน้อยมาก

 

อัจฉรา สรวารี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image