‘ศบค.’ เผย ‘นายกฯ’ ย้ำต้องไม่มีคนเสียชีวิตจากโควิดที่บ้าน หลังตั้งศูนย์พักคอย 50 เขต กทม.แก้ปมเตียงเต็ม

‘ศบค.’ เผย ‘นายกฯ’ ย้ำต้องไม่มีคนเสียชีวิตจากโควิดที่บ้าน หลังตั้งศูนย์พักคอย 50 เขต กทม.แก้ปมเตียงเต็ม

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 พบยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทย จำนวน 13,002 ราย นับเป็นการสร้างสถิติสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 11,922 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 31 ราย และติดเชื้อจากเรือนจำหรือที่ต้องขัง 1,049 ราย พบยอดผู้เสียชีวิต 108 คน ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 3,516 คน คิดเป็น 0.86% ผู้หายป่วยกลับบ้าน 8,248 ราย ส่วนผู้ที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 131,411 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 3,786 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 879 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กรมการแพทย์รายงานผู้ติดเชื้อโควิด 70-80% เป็นกลุ่มที่ไม่มีอาการ แบ่งเป็นสีเขียว 51.78% ที่ไม่มีอาการ, สีเขียวเข้ม 26.30% มีอาการน้อย ซึ่งผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อย อยู่ในวัยแรงงาน, สีเหลือง 18.10% อาการปานกลาง, สีแดง 3.82% อาการหนัก โดยขณะนี้พบว่ากลุ่มสีเหลืองและสีแดงเป็นตัวเลขที่มีกราฟสูงขึ้น ทำให้กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำในการสงวนเตียงที่อยู่ในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงในระดับปานกลางและหนักก่อน รวมถึงพบว่าเชื้อสายพันธุ์เดลต้าได้แพร่ระบาดเกิน 50% แล้วในหลายจุด แบ่งเป็น 5 หลัก ได้แก่ 1.เขตจตุจักร 2.เขตบางรัก 3.เขตจอมทอง 4.เขตคลองเตย และ 5.เขตหลักสี่ พยายามที่จะมุ่งเป้าในการฉีดวัคซีนป้องกัน จัดทีมป้องกันแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในชุมชน

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า การกระจายตัวของผู้ติดเชื้อใน กทม.และปริมณฑล ที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 5,619 ราย นับเฉพาะ กทม. มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มกว่า 2,921 ราย ส่วนพื้นที่จังหวัดอื่นๆ อีก 67 จังหวัด ยอดมีอัตราเพิ่มขึ้น รวมเป็น 6,303 ราย ส่วนตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตที่อยู่ค่อนข้างสูงในช่วงนี้ พบว่า ตัวเลขเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 40 ราย และกระจายอยู่ในจังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ สมุทรสาคร 13 ราย นครปฐม 4 ราย ปทุมธานี 4 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นนทบุรี 1 ราย สงขลา 7 ราย ยะลา 6 ราย นราธิวาส 2 ราย และปัตตานี 2 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว โดย 3 อันดับแรกของโรคประจำตัวที่พบว่ามีการเสียชีวิตมากสุด ได้แก่ 1.ความดันโลหิตสูง 2.เบาหวาน และ 3.ไขมันในเลือดสูง รวมถึงโรคไต ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาต้องล้างไตหรือฟอกเลือด เมื่อมีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย จะทำให้อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตด้วยภาวะโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยมีอยู่ โดยหากพิจารณาจากจำนวนวันนอนโรงพยาบาล พบว่ามีมากถึง 42 ราย ที่เสียชีวิตหลังจากรู้ผลว่าติดเชื้อโควิดไม่เกิน 6 วัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำเสมอว่าเมื่อมีประวัติ สงสัยเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้เสี่ยงหรือติดเชื้อ เดินทางในพื้นที่เสี่ยง และมีกิจกรรมเสี่ยง หากมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ขอให้ไปตรวจทันที โดย กทม.และปริมณฑลได้พยายามเพิ่มศักยภาพในการเร่งตรวจ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบและได้รับการรักษาเร็วที่สุด

“มีการรายงานว่า จังหวัดอื่นๆ อาทิ มหาสารคาม มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี เกิดการติดเชื้อร่วมบ้าน, กาฬสินธุ์ เป็นคลัสเตอร์แคมป์ก่อสร้างจากวังน้อย อยุธยา เดินทางกลับบ้าน, ศรีสะเกษ เดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล ชลบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา รวมถึงขอนแก่นและนครราชสีมา ที่ผู้ติดเชื้อเดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล จึงเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าการขอความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในกรณีที่ผู้ตรวจหาเชื้อและยืนยันว่าติดเชื้อโควิดแล้ว ขอให้เข้าสู่ระบบการรักษาแบบไม่เคลื่อนย้าย หรือเดินทางกลับภูมิลำเนา เนื่องจากเตียงของต่างจังหวัดขณะนี้เพิ่มปริมาณสูงและตึงตัวพอสมควร ทำให้หากต้องการกลับภูมิลำเนาเพื่อรักษา จะต้องติดต่อโรงพยาบาลปลายทางก่อนเสมอ เพราะอาจถูกปฏิเสธได้ หากไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่มอีก” พญ.อภิสมัยกล่าว

Advertisement

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้กล่าวในที่ประชุม ศบค. ว่าได้ติดตามรับฟังข่าวสารข้อมูล และเน้นย้ำว่าจะต้องไม่มีคนเสียชีวิตที่บ้านจากการติดโควิด-19 ทำให้เมื่อมีการเจ็บป่วย จะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบเร็วที่สุด จึงพยายามตรวจด้วยชุดทดสอบแอทติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit) ที่จะขยายจุดตรวจให้ครอบคลุมมากขึ้น หลังจากที่เห็นภาพประชาชนมีความสงสัยว่าอาจติดเชื้อได้ จึงเข้าคิวรอตรวจจำนวนมากนั้น ขณะนี้การเพิ่มจุดตรวจจะช่วยลดปัญหาในการเข้าถึงจุดตรวจ อาทิ จุดตรวจของ กทม. หน่วยตรวจของกองทุนประกันสังคม

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ความคืบหน้าในการจัดสรรเตียง ต้องย้ำว่าศักยภาพเตียงรักษาผู้ป่วยมีจำกัดอย่างยิ่ง โดยเตียงที่มีอยู่ตอนนี้เป็นการเปิดเพิ่มหรือขยายจำนวนขึ้นอีก ทำให้เตียงรักษาผู้ป่วยที่มีอยู่เดิมเต็มหมดแล้ว จึงเห็นว่ามีการพยายามเปิดเตียงเพิ่ม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรักษา แต่การตอบโจทย์กรณีเตียงเต็มนั้น อยู่ที่การแยกกักที่บ้าน และการแยกกักชุมชน ดังนั้น ทาง กทม.ต้องมีการจัดเตรียมศูนย์พักคอย เพื่อรองรับผู้ป่วย โดยนโยบายของ ผอ.ศบค. กำหนดให้ กทม. มี 50 สำนักงานเขต ต้องมีศูนย์พักคอย 1 เขต มี 1 แห่ง ศูนย์ละ 100 เตียง และหากเป็นไปได้ บางเขตมีได้ 2 ศูนย์ เราจะได้เตียงผู้ป่วยเพิ่มอีก 5,000 เตียง หรือหากทุกเขตใน กทม. มี 2 ศูนย์พักคอย ในแต่ละเขต เราจะได้เตียงผู้ป่วยเป็น 10,000 เตียง หรือหากเป็นไปได้จริงๆ ทุกเขตใน กทม.สามารถจัดตั้งได้เขตละ 2 ศูนย์ ศูนย์ละ 200 เตียง เราจะได้เตียงสำหรับผู้ป่วยเป็น 20,000 เตียง ซึ่งตอนนี้ กทม.เปิดศูนย์พักคอยรองรับแล้ว 49 เขต ในพื้นที่ 47 เขต โดยเน้นย้ำว่าการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน จะต้องรับเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยเท่านั้น

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า รวมถึงที่ประชุมยังเพิ่มให้หญิงตั้งครรภ์ให้ได้รับฉีดวัคซีนโควิด แบบมีเงื่อนไขต้องเป็นการตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป ทั้งนี้ จะมีการรวมกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ดังกล่าวเข้าไปในกลุ่ม 7 เสี่ยงที่ต้องฉีดวัคซีนเร่งด่วน เป็น 8 กลุ่มเสี่ยงด้วย ส่วนระยะถัดไป ได้หารือถึงกรณีการให้วัคซีนคนต่างชาติ และคู่สมรส ที่พักอาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย มีถิ่นพำนักประเทศไทย ให้สามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนได้ ส่วนกรณี กทม. เปิดเพจไทยร่วมใจ เพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนรับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้พบว่ายังมีผู้ลงทะเบียนเข้ามาค่อนข้างน้อย จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ลูกหลานได้นำผู้สูงอายุมาลงทะเบียนรับวัคซีน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image