‘หมอโอภาส’ แจง หลักการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้ด่านหน้า ไร้เงื่อนไข แต่มีข้อบ่งชี้รับเข็มกระตุ้น 3 กลุ่ม

‘หมอโอภาส’ แจง หลักการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้ด่านหน้า ไร้เงื่อนไข แต่มีข้อบ่งชี้รับเข็มกระตุ้น 3 กลุ่ม เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ลิสต์รายชื่อ รอรับระยะถัดไป

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กล่าวระหว่างแถลงข่าวกรณีการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ล็อตบริจาค 1.5 ล้านโดส ว่า ในวันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาลมีพิธีรับมอบวัคซีนไฟเซอร์ล็อตบริจาคจากสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ โดยสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้รับมอบวัคซีน จำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งเป็นตัวเลขทางการ

นพ.โอภาสกล่าวว่า เมื่อวานนี้ (1 ส.ค.) มีการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 4/2564 ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยมีหน้าที่ให้คำแนะนำ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับวัคซีนในภาพรวมประเทศ ข้อมูลวัคซีนไฟเซอร์ เป็นวัคซีนที่มีความเข้มข้น ดังนั้น มีขั้นตอนซับซ้อนกว่าวัคซีนทั่วไป การนำมาใช้ต้องเจือจางด้วยการผสมน้ำเกลือ การเก็บรักษาในอุณหภูมิ -90 ถึง -60 องศาเซสเซียส เมื่อเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาฯ หรือตู้เย็นปกติ จะอยู่ได้ 1 เดือน และเมื่อนำออกมาจะต้องฉีดให้หมดภายในไม่กี่ชั่วโมง ฉะนั้น ต้องมีการตเรียมการพอสมควร ข้อบ่งชี้การใช้ สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และฉีดเข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์

นพ.โอภาสกล่าวว่า มติที่ประชุมสำหรับคำแนะนำการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในบุคลากรทางการแพทย์ กำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทุกคนที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 จากการปฏิบัติงานทั่วประเทศ รวมถึงนักศึกษา หรือเจ้าหน้าที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยจากการปฏิบัติงานหรือการเรียนการสอนที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยจริง เช่น คนทำงานแผนกผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน คลินิกทางการหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต โรงพยาบาลสนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานกักกัน หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อื่นๆ ที่อาจมีเพิ่มเติมซึ่งเป็นไปตามการพิจารณาของสถานพยาบาล หรือหน่วยงานต้นสังกัด

นพ.โอภาสกล่าวว่า หลักการให้วัคซีนไฟเซอร์มีดังนี้ 1.บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ กระตุ้น 1 เข็ม 2.บุคลากรที่ได้รับวัคซีนใดๆ มาแล้วเพียง 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดส ตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก 3.บุคลากรที่ไม่เคยรับวัคซีนใดๆ มาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ 4.บุคลากรที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และไม่เคยได้รับวัคซีน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน อย่างไรก็ตาม หลักการให้วัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ

Advertisement

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ผู้เชี่ยวชาญคณะอนุกรรมการฯที่ประกอบด้วยหลายสาขา เช่น กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน มีคำแนะนำเพิ่มเติมใน 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เคยได้รับวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มที่ 1 และรับเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือสูตรสลับชนิด SA 2.ผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ ไปเป็นเข็มที่ 1 และจะมีการกำหนดให้รับเข็มที่ 2 ห่างไปอีก 12 สัปดาห์ และ 3.ผู้ที่ได้ซิโนแวค 2 เข็ม และได้รับวัคซีนกระตุ้นเป็นที่ 3 ด้วยแอสตร้าฯ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่าขณะนี้ยังไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เพราะภูมิคุ้มกันยังอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอ เนื่องจากเพิ่งรับวัคซีนมาไม่นาน และยังไม่มีข้อมูลวิชาการสนับสนุนว่าจะฉีดวัคซีนกระตุ้มอีกครั้งเมื่อไหร่ แต่จะมีการขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ เพื่อติดตาม พิจารณาตามข้อมูลวิชาการเพิ่มเติม และดำเนินการฉีดวัคซีนไฟเซอร์และจะมีเพิ่มเติมในระยะถัดไป

“ย้ำว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นการฉีดในภาวะฉุกเฉิน แปลว่า ในขณะนี้มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับวัคซีนออกมาตลอดเวลา ทั้งเรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัย เราเพิ่งมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลากหลายชนิดมายังไม่ถึงปี ฉะนั้น ภูมิต้านทานจะมีการลดลงในช่วงไหน จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ซึ่งมีมาตลอด เพื่อกำหนดว่าเราควรฉีดวัคซีนอย่างไร

“เช่น การกลายพันธุ์ของเชื้อเป็นเดลต้า (อินเดีย) ทำให้ภูมิคุ้มกันที่ฉีดวัคซีนไปเกือบทุกชนิดมีการลดลง ฉะนั้น วิธีการเพิ่มภูมิคุ้มกัน ก็คือการฉีดวัคซีนกระตุ้น ที่เราเรียกว่าเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์โดส (Booster Dose) โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรด่านหน้า มีภูมิคุ้มกันที่จะไม่เจ็บ ไม่ป่วย สามารถปฏิบัติงาน ช่วยเหลือประชาชนต่อไปได้” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

เมื่อสอบถามถึงกำหนดการกระจายวัคซีนไปฉีดตามพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย นพ.โอภาส กล่าวว่า จะเริ่มทยอยส่งในสัปดาห์นี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการซักซ้อม และสอบถามความพร้อมของพื้นที่ปลายทางทั้งเรื่องของการจัดเก็บ และความพร้อมในการฉีดวัคซีน เพราะอย่างที่แจ้งให้ทราบว่าการเก็บวัคซีนไฟเซอร์ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิให้ได้ ดังนั้นหากพื้นที่ไหนพร้อมก็จะจัดส่งไปให้ ไม่ได้กระจายพร้อมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image