เดลต้ายึดพื้นที่ครบทุก จว.ทั่วไทย หมอเตือนตรวจภูมิฯหลังฉีดวัคซีนเองไม่มี ปย.

เดลต้ายึดพื้นที่ครบทุก จว.ทั่วไทย หมอเตือนตรวจภูมิฯหลังฉีดวัคซีนเองไม่มี ปย.

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าผลการตรวจเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. – วันที่ 6 ส.ค.2564 ทั่วประเทศมีการตรวจรหัสพันธุกรรมไวรัสโควิด-19 จำนวน 1,632 ราย พบเป็นสายพันธุ์เดลต้า 1,499 ราย คิดเป็น ร้อยละ 91.9 สายพันธุ์แอลฟา 129 ราย คิดเป็น ร้อยละ 7.9 และสายพันธุ์เบต้า 4 ราย คิดเป็น ร้อยละ 0.2 โดยพบในภาคใต้ทั้งหมด เมื่อพิจารณาเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการตรวจ 1,157 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 95.4 สายพันธุ์แอลฟาเหลือ ร้อยละ 4.6 ส่วนภูมิภาคมีการตรวจ 475 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลต้า ร้อยละ 83.2 สายพันธุ์แอลฟา ร้อยละ 16 และสายพันธุ์เบต้า ร้อยละ 0.8

“พูดง่ายๆ สายพันธุ์เดลต้าพบมากขึ้น และคงเบียดสายพันธุ์แอลฟาเรื่อยๆ จนสุดท้ายเกือบทุกรายน่าจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าเป็นหลัก ซึ่งเมื่อดูจากกราฟการตรวจพันธุกรรมในทุกสัปดาห์ สายพันธุ์เดลต้าขึ้นทุกสัปดาห์มาค่อนข้างเร็ว เพราะมีอำนาจกระจายเชื้อได้ง่าย จึงครอบครองพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ขณะนี้พบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว แม้การตรวจนี้จะยังไม่พบที่ จ.สุพรรณบุรี แต่เข้าใจว่าอาจจะยังตรวจไม่เจอ แต่ไม่ได้แปลว่า ไม่มี จึงอาจสรุปได้ว่ามีสายพันธุ์เดลต้าครบทุกจังหวัดของไทยแล้ว” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์เบต้าสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 4 ราย คือ จ.ภูเก็ต 3 ราย และ จ.พัทลุง 1 ราย ภาพรวม ร้อยละ 70 อยู่ที่ จ.นราธิวาส ที่เริ่มต้นจากการมีคนเดินทางข้ามมาจากมาเลเซียและเอาสายพันธุ์นี้เข้ามาด้วย สายพันธุ์เบต้าอำนาจแพร่เชื้อไม่มาก ก็ค่อนข้างจำกัดวงที่ภาคใต้ การเจอนอกภาคใต้คือ จ.บึงกาฬ พบช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 5 ราย ซึ่งยุติไปแล้ว ส่วน 3 ราย ที่ จ.สมุทรปราการ อยู่ในสถานกักกันโรค และ กรุงเทพฯ เคยพบ 1 รายแรก บวกญาติ 2 ราย ก็จบแล้ว ไม่พบเพิ่มเติม “เพราะฉะนั้น กรณีเบต้าไม่น่าเป็นปัญหานอกพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไปจะแพร่กระจายที่อื่นหรือไม่ เราสามารถตรวจจับได้จากระบบเฝ้าระวังของเรา ขอให้ช่วยกัน เพราะธรรมชาติสายพันธุ์เดลต้ามีการแพร่กระจายติดเชื้อง่ายมากกว่าเดิมหลายเท่า ทำให้การแพร่กระจายถึงรวดเร็ว ผู้ป่วยเพิ่มหลัก 2 หมื่นรายต่อวัน ด้วยอำนาจแพร่เชื้อที่ง่ายทำให้ติดง่าย ดังนั้น ต้องเคร่งครัดสวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง อย่ารวมกลุ่ม ให้คนไทยช่วยกัน ไม่มีอะไรดีกว่าที่เราช่วยกันหยุดยั้ง เพราะไวรัสไปเองไม่ได้ ไปกับผู้คน การทำกิจกรรมเสี่ยงทั้งหลาย ถ้าเราหยุดการแพร่เชื้อเร็ว ควบคุมโรคเร็ว โอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่จะน้อยลง ซึ่งตอนนี้เรายังไม่เจอสายพันธุ์อื่น เช่น แลมบ์ดา โดยมีการเฝ้าระวังคนมาจากต่างประเทศ ทั้งในสถานกักกันโรค ชายแดน คลัสเตอร์แปลกๆ หรือผู้ป่วยหนัก” นพ.ศุภกิจ กล่าว

Advertisement

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ส่วนกรณีเห็นในโซเชียลมีเดีย มีอินฟลูเอนเซอร์ หรือใครก็ตามพยายามไปตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน แล้วบอกว่าขึ้นเท่านั้น เท่านี้ คนนั้นขึ้นน้อย ขึ้นมาก ซึ่งการตรวจแบบนั้นไม่ได้บอกอะไร ไม่คุ้มที่จะไปตรวจ เพราะว่าเป็นการขึ้นของภูมิคุ้มกันในภาพรวม ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่า จัดการกับเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน และแล็บแต่ละแห่งมีค่าของตัวเลขการวัดที่แตกต่างกันไป

“องค์การอนามัยโลกยังไม่กำหนดว่าระดับภูมิคุ้มกันแค่ไหนจะป้องกันโรคได้ ดังนั้น หากไปตรวจ ก็ควรถามคนตรวจว่า ใช่การตรวจ Neutralizing Antibodies ที่เป็นภูมิกำจัดเชื้อโรคหรือไม่ เป็นภาพรวม หรือจำเพาะต่อเชื้อสายพันธุ์ใด ต้องถามเพื่อให้คนตรวจอธิบายว่า ผลแปลว่าอะไร อย่างไร เพราะถ้าเป็นภูมิคุ้มกันทั่วไป ไม่มีประโยชน์ พอขึ้นไม่มาก ก็ไม่สบายใจ หรือขึ้นมาก ก็ไม่ได้แปลว่าป้องกันโรคได้ ซึ่งมองว่ามีกระบวนการชักชวนให้ตรวจ แต่ไม่มีความจำเป็น” นพ.ศุภกิจ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image