สธ.แจงซื้อเอทีเค 180 ล. แจกบุคลากรแยงสัปดาห์ละครั้ง ไม่ล็อกยี่ห้อแต่ต้องผ่าน อย.

สธ.แจงซื้อเอทีเค 180 ล. แจกบุคลากรแยงสัปดาห์ละครั้ง ไม่ล็อกยี่ห้อแต่ต้องผ่าน อย.

กรณีชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดซื้อชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (เอทีเค) ยี่ห้อเล่อปู๋ (LEPU) จำนวน 8.5 ล้านชิ้น ในราคาชุดละ 70 บาท ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำไปแจกประชาชนเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง โดยให้เหตุผลว่าไม่มั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีการนำไปใช้ในหลายประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการลงนามจัดซื้อกับบริษัทที่ชนะการประกวดราคา ต่อมาชมรมแพทย์ชนบทออกมาเปิดเผยอีกว่าให้สังคมจับตา เนื่องจาก สธ.มีการจัดสรรงบประมาณอีก 180 ล้านบาท ให้ อภ.จัดซื้อเอทีเคอีกล็อตนั้น

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวถึงกรณีมีรายงานว่าที่ประชุม EOC สธ.ให้มีการซื้อชุดตรวจเอทีเคสำหรับบุคลากรการแพทย์ งบประมาณประมาณ 180 ล้านบาท ว่าเป็นแผนงานที่ขอจากรัฐบาลนานแล้ว เนื่องจากกรมควบคุมโรคมีข้อกำหนดให้เพิ่มการคัดกรองในสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้แยกผู้ติดเชื้อเร็ว และได้เข้ารับการรักษา ซึ่งในส่วนของบุคลากรสาธารณสุขนั้น ในการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยนั้นมีการระมัดระวังอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีการติดเชื้อได้ รวมถึงกรณีที่อาจจะมีการติดในบุคลากรกันเองด้วย

“ทาง สธ.จึงมีนโยบายให้ตรวจด้วยเอทีเคในกลุ่มเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยนำร่องทดลอง 4-5 สัปดาห์ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัด สธ.และ รพ.โรงเรียนแพทย์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคัดกรองบุคลากรในเบื้องต้น” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ปลัด สธ.กล่าวว่า ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณนั้นมีกองบริหารการสาธารณสุข (กบรส.) เป็นผู้ดูแล ซึ่งโดยปกติ กบรส.ก็ร่วมกับ อย.และ อภ.ในการบริหารคลังอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ต่างๆ อยู่แล้ว เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และอื่นๆ เป็นต้น ที่จัดซื้อและกระจายไปทั่วประเทศ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องก็จะออกข้อกำหนดในการซื้อเอทีเคอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

ด้าน นพ.กรกฤช ลิ้มสมมติ ผอ.กบรส. กล่าวว่า งบประมาณ 180 ล้านบาทนั้น เป็นงบกลางปี 2564 ที่ ครม.อนุมัติให้มาแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันการจัดสรรงบดังกล่าวจากสำนักงบประมาณ ซึ่งหากส่งมาแล้วคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการพิจารณาในเรื่องคุณสมบัติของเอทีเคที่จะใช้ ซึ่งตามหลักผู้ใช้คือ สธ.สามารถกำหนดสเปกได้ แต่ กบรส.ก็ต้องมีการตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันพิจารณา อาทิ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ฯลฯ

“ที่มีการหารือกันในเบื้องต้นนั้นเป็นเอทีเคสำหรับให้ประชาชนตรวจด้วยตัวเอง หรือโฮม ยูส เพราะบุคลากรก็คือประชาชนคนหนึ่งและมีหลายส่วนงาน ดังนั้น จึงใช้ชุดตรวจที่สามารถตรวจได้เอง ไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นยี่ห้อท็อปตัวไหนเป็นพิเศษ แต่ให้เป็นเอทีเคที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับ อย.ของไทยแล้ว” นพ.กรกฤชกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image