คพ.เร่งตรวจสอบมลพิษจากโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม จ.เพชรบูรณ์

คพ.เร่งตรวจสอบมลพิษจากโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม จ.เพชรบูรณ์

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากกรณี คพ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมีความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นเหม็นที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม ในพื้นที่บ้านม่วงชุม ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งทราบว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและมีลำคลองสาธารณะบริเวณหลังโรงงาน

Advertisement

นายอรรถพล กล่าวว่า เมื่อวานนี้(วันที่ 29 สิงหาคม 2564) กรมควบคุมมลพิษ โดยศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 3 พร้อมด้วยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบูรณ์ เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ร่วมกับผู้นำชุมชนผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 พร้อมด้วยประชาชนชาวบ้านหมู่ 4 บ้านม่วงชุม ซึ่งในพื้นที่บ้านม่วงชุมมีบ้านเรือนประชาชนจำนวน 234 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 500 คน โรงเรียนประถม 1 แห่ง (นักเรียน 100 คน) และวัด 1 แห่ง และบ้านหลังที่อยู่ใกล้โรงงานที่สุดห่างประมาณ 100 เมตร ซึ่งโรงงานดังกล่าวประกอบกิจการการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และมีประชาชนประมาณ 30 คน ตั้งเต็นท์ร้องเรียนอยู่บริเวณหน้าบริษัท มาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม. 2564 จนถึงปัจจุบัน

จากการสอบถามผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 และประชาชนในพื้นที่ มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหากลิ่นเหม็นที่คาดว่าเกิดจากกองขยะในโรงงาน(สูงประมาณ 10 เมตร) ซึ่งมีกลิ่นเหม็น ฉุน ชาวบ้านบางคนมีอาการเวียนศีรษะ แสบจมูก และกังวลเรื่องน้ำเสียจากระบบบำบัดอาจจะไหลลงสู่ลำคลองสาธารณะบริเวณหลังโรงงาน รวมทั้งซึมผ่านน้ำใต้ดินในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ การดำเนินการแก้ไขในระดับพื้นที่ ในปี 2562 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานไตรภาคีเพื่อติดตาม ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการของบริษัท โดยมีนายอำเภอศรีเทพ เป็นประธาน และปลัดอบต.คลองกระจัง เป็นเลขานุการ มีการประชุมทุกไตรมาส และได้สรุปผลการประชุมให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ดำเนินการต่อไป ซึ่งหลังจากการติดตามตรวจสอบ ศปก.พล. ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินบริเวณโดยรอบโรงงาน ได้แก่ คลองนา จำนวน 3 ตัวอย่าง และคลองมะนาว จำนวน 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำใต้ดิน จำนวน 2 ตัวอย่าง เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และแก้ไขปัญหาต่อไป นายอรรถพล กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image